ที่ดินดังกล่าวเป็นด้านพื้นที่โรงเรียนเตรียมทหารเดิม บริเวณหัวมุมถนนพระรามสี่-วิทยุ ซึ่งก่อนหน้านี้สำนักงานทรัพย์สินได้มีการคัดเลือกให้บมจ.ยูนิเวนเจอร์ (UV) และ บริษัท ทีซีซี แอสเซ็ทส์ (ประเทศไทย) ชนะการประมูลและได้สิทธิในการเช่าพื้นที่เพื่อพัฒนาที่ดินดังกล่าวแล้ว ในระยะเวลา 30 ปีและต่อสัญญาได้อีก 30 ปี โดยโครงการดังกล่าวจะเป็นรูปแบบมิกซ์ยูส มีอาคารสำนักงาน ที่อยู่อาศัย และห้างสรรพสินค้า ทั้งนี้ แม้ว่าโครงการต้นแบบ "หลังสวน วิลเลจ" จะมีพื้นที่ติดกับพื้นที่โรงเรียนเตรียมทหารเดิม แต่แยกส่วนของการพัฒนากันอย่างชัดเจน
นายชลาลักษณ์ บุนนาค ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สยามสินธร จำกัด ในฐานะผู้บริหารโครงการ กล่าวว่า "หลังสวน วิลเลจ"ตั้งอยู่บริเวณหลังสวน ติดกับพื้นที่โรงเรียนเตรียมทหารเดิม บนถนนวิทยุ ซึ่งบริษัทจะเป็นผู้รับผิดชอบพัฒนาโครงการเองทั้งหมด พื้นที่โครงการทั้งหมด 52 ไร่ แบ่งเป็น 30 ไร่สำหรับการพัฒนาที่อยู่อาศัยและสวน ส่วนอีก 15 ไร่พัฒนาเป็นช้พื้นที่ใช้สอยทั่วไปและวอล์คกิ้งสตรีท ขณะที่อีก 7 ไร่พัฒนาเป็นโรงแรม 5 ดาวและพิพิธภัณฑ์
ขณะที่นายยศ เอื้อชูเกียรติ ประธานกรรมการ บริษัท สยามสินธร จำกัด กล่าวว่า สยามสินธรมุ่งมั่นเพื่อการพัฒนาโครงการ "หลังสวน วิลเลจ" ตามแนวทางใหม่ในการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของสำนักงานทรัพย์สินฯ บนทำเลบริเวณถนนหลังสวน โดยจะให้ความสำคัญในการดูแลผู้เช่าเดิมอย่างเหมาะสมและเป็นธรรม โดยแบ่งปันประโยชน์ที่เหมาะสมกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่าย รวมทั้งผู้ค้าหาบเร่-แผงลอยในพื้นที่
"โครงการนี้พัฒนาขึ้นโดยไม่คำนึงเรื่องผลประโยชน์เชิงพาณิชย์เป็นที่ตั้ง เน้นให้ความสำคัญกับทัศนียภาพของเมือง คำนึงถึงการแก้ปัญหาจราจร ส่งเสริมคุณภาพชีวิตของผู้อยู่อาศัยและผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย บริษัทจะมีการจัดเตรียมพื้นที่ให้เป็นพื้นที่สีเขียวและประหยัดพลังงาน และมีการจัดเตรียมสถานที่และสาธารณูปโภคให้ผู้ค้ารายย่อยเดิมสามารถกลับมาค้าขายในบริเวณที่จัดไว้ นอกจากนี้จะจัดพื้นที่ตลอดแนวขนานกับถนนหลังสวนเป็นวอคกิ้ง สตรีท รวมทั้งหอศิลป์ ร้านค้าและร้านอาหาร เพื่อให้คนกรุงเทพใช้เป็นแหล่งพบปะสังสรรค์และพักผ่อนหย่อนใจ"นายยศ กล่าว
ทั้งนี้ ปัจจุบันสำนักงานทรัพย์สินฯมีพื้นที่ถือครองในกรุงเทพฯและต่างจังหวัดรวม 41,000 ไร่ โดยที่ดินส่วนใหญ่ร้อยละ 93 เป็นพื้นที่เช่าให้กับประชาชนที่มีรายได้น้อยถึงปานกลาง รวมทั้งหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ และองค์กรที่ทำประโยชน์เพื่อสังคม ในอัตราค่าเช่าที่ต่ำกว่าราคาตลาดมาก ส่วนที่เหลือเพียงร้อยละ 7 เป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพสูง ได้ให้เอกชนเช่าเพื่อพัฒนาเชิงพาณิชย์ ในอัตราค่าเช่าที่เป็นไปตามราคาตลาด
นายจิรายุ กล่าวอีกว่า สำนักงานทรัพย์สินฯได้มีการพัฒนาพื้นที่อื่นๆ เช่น ตลาดเฉลิมลาภ ย่านประตูน้ำ ซึ่งเป็นพื้นที่ชุมชนเสื่อมโทรม และมีปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมค่อนข้างมาก ซึ่งทางสำนักงานทรัพย์สินฯได้ดำเนินการพัฒนาพื้นที่ดังกล่าวให้เป็นพื้นที่ชุมชนที่น่าอยู่ขึ้น และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ด้วยการปรับปรุงอาคารพาณิชย์ที่ทรุดโทรมให้ดีขึ้น แม้ว่าการปรับปรุงจะค่อนข้างลำบากเนื่องจากพื้นที่มีขนาดเล็ก ซึ่งสำนักงานทรัพย์สินยังมีการติดตามดูแลผลกระทบของผู้เช่าเดิมอย่างใกล้ชิด เพื่อให้ผู้เช่าเดิมสามารถใช้ชีวิตได้โดยไม่ได้รับผลกระทบมาก
ส่วนการปรับปรุงพื้นที่ของสำนักงานทรัพย์สินฯ บริเวณถนนราชดำเนินกลาง มีความคืบหน้าไม่มากนัก เนื่องจากปัญหาด้านโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ทำให้การพัฒนาเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยจะไม่ทำเป็นโครงการใหญ่ ซึ่งปัจจุบันได้มีอาคารนิทรรศรัตนโกสินทร์ที่ได้รับการปรับปรุงแล้ว และมีการเริ่มทำโครงการอุทยานเฉลิมพระเกียรติ บริเวณสนามหลวง ทั้งนี้ การปรับปรุงพื้นที่บริเวณถนนราชดำเนินกลางมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการให้ความรู้แก่เยาวชนเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ไทย โดยไม่แสวงหารายได้