"เรามาดูกันว่ายุทธศาสตร์ของใครจะสามารถแก้ปัญหาให้กับเกษตรกรชาวสวนยางทั้ง 3 กลุ่มได้มากที่สุด...วันที่ 8 ต.ค.จะมาหรือไม่มา ยังบอกไม่ได้ ต้องรอดูความคืบหน้าการแก้ปัญหาของรัฐบาลระหว่างนี้ก่อน แต่บอกได้แค่ว่ามาตรการที่ภาครัฐออกมา ไม่น่าจะแก้ปัญหาได้"แหล่งข่าว กล่าวกับ"อินโฟเควสท์"
อนึ่ง ก่อนหน้านี้เครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางและปาล์มน้ำมัน 16 จังหวัดใต้ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ค ระว่า ในวันที่ 8 ต.ค.ทางเครือข่ายฯ ยังคงมีการจัดกิจกรรม ณ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช ตามกำหนดการเดิม โดยระบุว่า"ตามข่าวที่ว่ารัฐบาลได้มาเจรจากล่อมให้พวกเราหยุดกิจกรรมในวันที่ 8 ต.ค.57 ณ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์สำเร็จนั้น ทางเครือข่ายฯ ขอยืนยันอีกครั้งว่า ไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด"
ทั้งนี้ มาตรการช่วยเหลือปัญหาราคายางพาราตกต่ำของรัฐบาล ในระยะสั้นซึ่งมี 3 มาตรการสำคัญ คือ 1.การให้เงินทุนหมุนเวียนสถาบันเกษตรกรเพื่อรวบรวมยาง 2.การสนับสนุนสินเชื่อกับสถาบันเกษตรกรเพื่อรับซื้อยางไปแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้า โดยธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จะเป็นผู้ปล่อยสินเชื่อ และ 3.การปล่อยกู้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ รวมวงเงินประมาณ 3.3 หมื่นล้านบาทนั้น
แหล่งข่าว กล่าวว่า การสนับสนุนสินเชื่อกับสถาบันเกษตรกรให้ซื้อยางแล้วนำไปแปรรูปยางเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้ายาง 5,000 ล้านบาท ธ.ก.ส.จะเป็นผู้ปล่อยสินเชื่อ ไม่มีใครอยากกู้ หากว่าลงทุนไปแล้ว ขายผลผลิตไม่ได้ ใครจะรับผิดชอบ
"คงไม่มีสหกรณ์ไหนกล้าพอจะกู้ เพราะไม่มีอะไรมาการันตีเรื่องราคา"แหล่งข่าว กล่าว
ขณะที่ ร.อ.นพ.ยงยุทธ มัยลาภ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ขอความร่วมมือให้เกษตรกรชาวสวนยางยื่นข้อร้องเรียนผ่านศูนย์ดำรงธรรมประจำจังหวัด เพื่อส่งเข้ามาส่วนกลางแก้ปัญหา แทนการนัดรวมตัวเดินทางเข้ากรุงเทพในวันที่ 8 ต.ค.นี้ เน่องจากเกรงว่าจะกระทบต่อความสงบเรียบร้อย เนื่องจากสถานการณ์ในกรุงเทพฯ เพิ่งคลี่คลายลง