นายภูมิศักดิ์ ราศรี ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการเศรษฐกิจการเกษตร
สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า จากปัญหาการขาดแคลนแรงงานภาคการเกษตรของไทย ที่แรงงานภาคเกษตรที่มีอยู่เริ่มเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (aging society) เพิ่มขึ้น ประกอบกับแรงงานภาคการเกษตรวัยหนุ่มสาวที่ได้รับการศึกษาเคลื่อนย้ายเข้าสู่ภาค
อุตสาหกรรม อีกทั้งเกษตรกรมีต้นทุนการผลิตสูงขึ้นจากราคาปุ๋ยเคมี สารกำจัดศัตรูพืช ค่าจ้างแรงงาน จึงเป็นเหตุผลนำมาซึ่งต้องมีการนำเข้าแรงงานต่างด้าวเพื่อลดต้นทุนการผลิตและทดแทนแรงงานของไทย ทำให้ประสบปัญหาในการจัดการแรงงานภาคการเกษตร โดยเฉพาะการจัดการแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานตามฤดูกาลและมาเช้าเย็นกลับยังไม่สามารถกำหนดเป็นกฎกระทรวงได้อย่างชัดเจน ส่งผลให้การใช้แรงงานต่างด้าวในภาคเกษตรเป็นแรงงานต่างด้าวที่ผิดกฎหมายหรือไม่ได้จดทะเบียนเป็นจำนวนมาก อีกทั้งแรงงานต่างด้าวเหล่านี้มีการลักลอบเข้าประเทศอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลานาน การเดินทางเข้าออกสามารถทำได้ง่าย
ทางศูนย์ติดตามและพยากรณ์เศรษฐกิจการเกษตร คาดว่า ผู้ประกอบการและนายจ้างมีความต้องการแรงงานต่างด้าวอีกเป็นจำนวน 1.08 ล้านคน จากเดิมที่มีอยู่ 1.56 ล้านคน ดังนั้น ศูนย์ติดตามและพยากรณ์เศรษฐกิจการเกษตร จึงได้ทำการวิเคราะห์ผลกระทบของแรงงานต่างด้าวที่ลงทะเบียนเพิ่มเติมซึ่งยังไม่ได้รับอนุญาตให้ทำงานในราชอาณาจักร โดยการคำนวณผลกระทบจากแรงงานต่างด้าวจำนวน 1.08 ล้านคนที่มีต่อเศรษฐกิจการเกษตรไทยอย่างไรและมากน้อย เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาหาแนวทางบริหารจัดการแรงงานภาคการเกษตรของไทยและต่างด้าวให้เพียงพอต่อความต้องการแรงงานภาคเกษตร เกิดประสิทธิภาพและความสมดุลทางด้านแรงงานตามมา โดยได้ทำการศึกษาและวิเคราะห์ว่า หากมีแรงงานต่างด้าวเพิ่มเข้ามาในภาคการผลิตจะส่งผลทำให้เกิดมูลค่าเพิ่มในภาคการผลิต มูลค่ารวม 252,810.21 ล้านบาท โดยภาคเกษตรกรรม มีมูลค่า 27,233.71 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 10.77 ของภาคการผลิตทั้งหมด ทั้งนี้ ภาคปศุสัตว์ได้รับผลมากที่สุด มูลค่า 3,448.67 ล้านบาท รองลงมา ได้แก่ ผักและผลไม้ อ้อย และข้าว ตามลำดับ
อินโฟเควสท์ โดย นิศารัตน์ วิเชียรศรี/รัชดา โทร.02-2535000 ต่อ 317 อีเมล์: rachada@infoquest.co.th--