ทั้งนี้ สศก.ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เข้าร่วมประชุมเพื่อพิจารณาการเปิดตลาดสินค้าเกษตรของไทยเพิ่มเติมภายใต้ความตกลง FTA อาเซียนกับเกาหลี เพื่อจัดทำ Stocktaking ในส่วนของสินค้าเกษตรในเบื้องต้นเมื่อปลายเดือน ส.ค.ที่ผ่านมาเกี่ยวกับการจัดส่งรายการสินค้าที่สามารถเปิดตลาดได้เบื้องต้นให้กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศนำรวมกับสินค้าอุตสาหกรรมที่สามารถเปิดเสรีเพิ่มเติมได้ อันเป็นการเตรียมการตามมติที่ประชุมคณะกรรมการดำเนินงานความตกลง FTA อาเซียน-เกาหลีครั้งที่ 10
อนึ่ง อาเซียนและเกาหลีได้ลงนามการจัดทำความตกลง FTA ตั้งแต่เดือน ก.พ.52 โดยการเจรจาครอบคลุมการเปิดเสรีการค้าสินค้า การค้าบริการ การลงทุน และความร่วมมือทางเศรษฐกิจ สำหรับความตกลงว่าด้วยการค้าสินค้านั้น อาเซียน 9 ประเทศ และเกาหลีได้ลงนามเมื่อเดือน ส.ค.49 และมีผลใช้บังคับเมื่อเดือน มิ.ย.50 สำหรับไทยมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.53 เนื่องจากในขณะนั้นไทยและเกาหลียังไม่สามารถตกลงกันได้ในสินค้าบางรายการ
หลังจาก FTA อาเซียน–เกาหลีมีผลใช้บังคับแล้ว ได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการดำเนินงานความตกลงน และได้ประชุมมาแล้วถึง 10 ครั้ง ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการค้า คือ หลักการต่างตอบแทน ซึ่งกำหนดว่าหากประเทศใดต้องการส่งสินค้าเข้าไปยังประเทศคู่ภาคี และเป็นสินค้าที่มีภาษีเป็นศูนย์แล้ว ประเทศนั้นจะต้องปรับอัตราภาษีของตนให้ต่ำกว่าร้อยละ 10 เพื่อสามารถใช้สิทธิพิเศษทางภาษีในกรอบเจรจานี้ได้ (โดยมีเงื่อนไขด้วยว่าอัตรานั้นจะต้องเป็นอัตราที่ต่ำกว่า MFN ของประเทศคู่ภาคีด้วย) ซึ่งเกาหลีพยายามให้อาเซียนยกเลิกหลักการดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ไทย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และกัมพูชา ยังคงยืนยันในการใช้หลักการต่างตอบแทน
ส่วนประเด็นทบทวนการเปิดตลาดเพิ่มเติมในรายการสินค้าอ่อนไหว อาเซียนกำหนดการเปิดตลาดเพิ่มเติมที่ร้อยละ 2 ของรายการสินค้าทั้งหมดจากระดับการเปิดเสรีปัจจุบัน ซึ่งแต่ละประเทศไม่เท่ากัน เนื่องจากมีการเปลี่ยนพิกัดศุลกากรจากปี 50 เป็น 55 ทำให้การเปิดตลาดที่เคยตกลงกันไว้เดิมทั้งอาเซียนและเกาหลีที่ร้อยละ 90 มีการเปลี่ยนแปลง โดยไทยมีการเปิดตลาดที่ร้อยละ 88 ดังนั้น การเปิดตลาดเพิ่มเติมอีกร้อยละ 2 จึงหมายถึงไทยจะเปิดตลาดเพิ่มเป็นร้อยละ 90
สำหรับมูลค่าการค้าสินค้าเกษตร (ไม่รวมยางพารา) ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ไทยและเกาหลีมีมูลค่าการค้าเฉลี่ย 29,536 ล้านบาทต่อปี โดยมีอัตราการเติบโตเพิ่มเฉลี่ยร้อยละ 2.18 ต่อปี และที่ผ่านมาไทยเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้าต่อเกาหลีมาโดยตลอดเฉลี่ย 13,638 ล้านบาทต่อปี โดยในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2557 พบว่าไทยมีมูลค่าส่งออก 11,749 ล้านบาท (ลดลงเล็กน้อยจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 12,780 ล้านบาท) และไทยมีมูลค่านำเข้า 2,658 ล้านบาท (ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 5,156 ล้านบาท) ซึ่งไทยยังคงเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้าต่อเกาหลี 9,091 ล้านบาท
สินค้าเกษตรส่งออกที่สำคัญของไทยไปยังเกาหลี คือ น้ำตาล ข้าว กากจากมันสำปะหลัง ไก่ปรุงแต่ง กุ้งแช่แข็ง ไขมันและน้ำมันจากพืช สตาร์ชจากมันสำปะหลัง ในขณะที่สินค้าเกษตรนำเข้าสำคัญ คือ ปลาทูน่าท้องลาย ปลาทูน่าครีบเหลือง และสาหร่าย เป็นต้น