(เพิ่มเติม) "ประจิน"คาดสรุปขึ้นค่าแท็กซี่หรือไม่ต้นต.ค.-MRT ตรึงราคาถึงสิ้นปี 57

ข่าวเศรษฐกิจ Saturday September 27, 2014 16:15 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า ตามที่กลุ่มผู้ประกอบการแท็กซี่ได้ยื่นหนังสือมาที่กระทรวงคมนาคมเพื่อขอปรับอัตราค่าโดยสาร เนื่องจากกระทรวงพลังงานมีนโยบายจะปรับขึ้นราคาก๊าซ LPG และ NGV ในภาคขนส่งตั้งแต่เดือนต.ค.นั้น ขณะนี้กระทรวงคมนาคมกำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณาประเด็นที่สำคัญ 2 เรื่อง คือ ประเด็นเรื่องค่าครองชีพ และประเด็นเรื่องต้นทุนด้านพลังงาน

โดยในเบื้องต้นยังไม่สามารถสรุปได้ว่าจะอนุญาตให้ปรับขึ้นค่าโดยสารแท็กซี่ได้หรือไม่ เนื่องจากต้องรอความชัดเจนเรื่องต้นทุนพลังงานจากกระทรวงพลังงานก่อน ซึ่งคาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในต้นเดือนต.ค.นี้

นอกจากนี้ ในส่วนของการปรับขึ้นค่าโดยสารรถไฟฟ้าใต้ดิน(MRT) นั้น ได้มอบหมายให้ตัวแทนไปเจรจากับ บมจ.รถไฟฟ้ากรุงเทพ(BMCL) ซึ่งบริษัทฯ ยินดีที่จะขยายเวลาการปรับขึ้นค่าโดยสารให้จนถึงวันที่ 31 ธ.ค.57 แต่ยังไม่มีการประกาศอย่างเป็นทางการ เนื่องจากต้องพิจารณาข้อกฎหมายว่าต้องเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีหรือไม่ ขณะที่ในปี 58 มีแนวโน้มที่จะปรับขึ้นค่าโดยสารรถไฟฟ้าใต้ดินตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.58 เป็นต้นไป

พล.อ.อ.ประจิน ยังกล่าวว่าในการประชุมเชิงปฏิบัติการ (Workshop) สำหรับงานด้านขนส่งทางบกวันนี้ เน้นเป้าหมายการเชื่อมต่อการเดินทางภายในประเทศให้มีความสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย ทั้งภายในกรุงเทพมหานคร(กทม.) และการเชื่อมต่อเครือข่ายจากเมืองใหญ่สู่กทม. และดำเนินงานทุกโครงการต้องเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และประหยัดพลังงาน โดยได้ตั้งเป้าหมายตัวชี้วัดว่าจะต้องลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์เมื่อเทียบกับจีดีพีลง 2% จากปัจจุบันที่มีต้นทุนด้านโลจิสติกส์ต่อจีดีพีที่ 15.2% ให้เหลือ 13% พร้อมทั้งเพิ่มสัดส่วนการเดินทางระหว่างจังหวัดด้วยรถโดยสารเพื่อลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคลลงจาก 59% ให้เหลือ 40% โดยจะต้องมีการจัดรถขนส่งมวลชน และรถสาธารณะให้เพิ่มขึ้นทั้งปริมาณและคุณภาพ

ด้านขนส่งทางรางนั้น กำหนดเป้าหมายในการเพิ่มความเร็วของการเดินทางโดยรถไฟ โดยในส่วนของการขนส่งสินค้าจากปัจจุบันที่มีความเร็วเฉลี่ยประมาณ 39-40กม./ชม. เพิ่มเป็น 50-55-60 กม./ชม.ตามลำดับ โดยจะมีการซ่อมแซมเส้นทางรถไฟในปัจจุบันที่มีรางขนาด 1 เมตรให้เป็นมาตรฐานมีความแข็งแรงมากขึ้น มีการปรับเปลี่ยนไม้หมอนเก่าเปลี่ยนเป็นหมอนคอนกรีตทั้งหมด สร้างมาตรการต่างๆ เพิ่มเติมเพื่อป้องกันเหตุรถไฟตกราง และก่อสร้างเส้นทางเพิ่มในจุดคับคั่ง แออัด เพื่อไม่ให้รถไฟไม่ต้องเสียเวลาในการจอดรถสับหลีก เพื่อเพิ่มสัดส่วนการขนส่งสินค้าทางรางจาก 2.5% เป็น 5% ส่วนการขนส่งผู้โดยสารนั้น จะเพิ่มความเร็วจาก 50 กม./ชม เป็น 60-80 กม./ชม. ซึ่งคาดว่าจะทำให้เพิ่มจำนวนผู้โดยสารรถไฟจาก 45 ล้านคนต่อปีเป็น 75 ล้านคนต่อปี ในปี 59

รมว.คมนาคม กล่าวว่า ในปี 58 ต่อเนื่องปี 59 จะมีการลงทุนด้านระบบขนส่งทางบกประมาณ 66,000 ล้านบาท โดยรวมระยะเวลา 10 ปี จะมีวงเงินลงทุนรวมประมาณ 800,000 ล้านบาท ส่วนโครงการรถไฟฟ้าสายต่างๆ นั้น ได้รับทราบปัญหาในการดำเนินโครงการที่ล่าช้าแล้วซึ่งมีทั้งการสำรวจพื้นที่ การเวนคืน ความซ้ำซ้อนระหว่าง การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) กับกรุงเทพมหานคร(กทม.) หรือกับหน่วยงานในกระทรวงคมนาคม ซึ่งจะมีการแก้ปัญหาให้เรียบร้อยภายในเดือนพ.ย.นี้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ