โดยอัตราที่ปรับใหม่นั้นจะต้องความเหมาะสมไม่ทำให้ผู้โดยสารเดือดร้อน ในขณะเดียวกันจะทำให้ผู้ประกอบการนอยู่ได้โดยมีรายได้ไม่ต่ำกว่า 300 บาทต่อวัน อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการต้องปรับปรุงการให้บริการตามเงื่อนไขให้เรียบร้อยภายใน 30 วัน หลังจากสรุปโครงสร้างค่ามิเตอร์ใหม่ในวันที่ 5 ต.ค.นี้ หรือเท่ากับจะสามารถปรับอัตราค่าแท็กซี่ใหม่ได้ในวันที่ 5 พ.ย.57
โดยนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมช.คมนาคม จะประสานกับกระทรวงพลังงานเพื่อสรุปข้อมูลเพิ่มเติมในส่วนของต้นทุนค่าพลังงานให้เรียบร้อยภายในวันที่ 5 ต.ค. ทั้งนี้เงื่อนไขที่ผู้ประกอบการแท็กซี่ต้องปรับปรุงให้เรียบร้อยภายใน 30 วันนับจากวันที่ 5 ตุลาคม คือ 1. ปรับปรุงสภาพรถให้ดีขึ้น มีสภาพตามมาตรฐาน ทั้งแอร์ ความสะอาด กลิ่น 2. ปรับปรุง มารยาทคนขับ ให้มีวินัย ซึ่งการการขนส่งทางบก (ขบ.) จะจัดเจ้าหน้าที่และอาสาสมัครลงตรวจสอบอย่างเข้มข้น 3. จัดที่จอดรถเพิ่มเติมเพื่อลดการวิ่งรถเปล่าในการหาผู้โดยสาร 4.กรณีปฎิเสธรับผู้โดยสารนั้น นอกจากมีศูนย์รับร้องเรียน ขบ. ตำรวจ และกรุงเทพมหานคร(กทม.) จะทำงานร่วมกันเพื่อตรวจจับ 5. ทำข้อตกลงหรือสัตยาบันกับเจ้าของอู่แท็กซี่ให้คงอัตราค่าเช่ารถ เพื่อลดต้นทุนคนขับรถและคงอายุรถแท็กซี่ที่ไม่เกิน 9 ปีตามเดิม
ทั้งนี้ แท็กซี่ที่มีการปรับปรุงตามเงื่อนไข จะได้รับใบรับรองเป็นสติ๊กเกอร์ยืนยันว่าได้ผ่านการตรวจสอบมาตรฐานแล้วเหมาะสมที่จะให้ปรับอัตราค่ามิเตอร์ส่วนรายที่ไม่ปรับปรุง นอกจากจะไม่รับใบรับรองแล้วอาจจะถูกเพิกถอนไม่ให้วิ่งรับส่งได้ ซึ่งการปรับอัตรามิเตอร์แท็กซี่นั้นอยู่ในอำนาจของ รมว.คมนาคมในการอนุมัติได้ แต่จะต้องมีการประกาศล่วงหน้าก่อน ซึ่งถือว่าเป็นการคืนความสุขกับผู้ประกอบการแท็กซี่ที่ถือเป็นประชาชนเหมือนกัน เนื่องจากค่ามิเตอร์แท็กซี่ใช้อัตรานี้มาตั้งแต่ปี 2535 กว่า 20 ปีแล้วที่ไม่มีการปรับ
ปัจจุบันมีรถแท็กซี่ทั้งหมดประมาณ 1.11 แสนคัน ซึ่งเป็นรถที่ใช้ก๊าซเอ็นจีวีเป็นเชื้อเพลิงประมาณ 7 หมื่นคัน เป็นรถที่ใช้ก๊าซแอลพีจีเป็นเชื้อเพลิงประมาณ 3 หมื่นคัน ซึ่งได้กำชับให้เร่งปรับรถใช้ก๊าซแอลพีจีมาเป็นใช้ก๊าซเอ็นจีวีให้มากขึ้น เพื่อลดความเสี่ยงเนื่องจากก๊าซแอลพีจีมีอันตรายสูงกว่ารถที่ใช้ก๊าซเอ็นจีวี โดยในพื้นที่กทม.นั้น บมจ.ปตท.(PTT) ยืนยันว่าไม่มีปัญหาเรื่องสถานีบริการก๊าซเอ็นจีวี