สำหรับแนวทางนโยบายที่มอบให้แก่กรมวิชาการเกษตรรับไปดำเนินการแบ่งเป็น 2 แนวทาง 1.การวิจัยพัฒนาในเชิงเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่สามารถนำไปใช้งานได้ทันที โดยเฉพาะสินค้าเกษตรที่กำลังมีปัญหา เช่น กรณีปัญหายางพาราในสต็อก กรมวิชาการเกษตรควรจะคิดค้นเทคโนโลยีการแปรรูปยางเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ หรือใช้ยางเป็นวัตถุดิบ เพื่อเพิ่มปริมาณการใช้ยางในประเทศให้มากขึ้นมากกว่าการสร้างถนนซึ่งใช้ปริมาณยางเพียง 5% เท่านั้น ซึ่งถือเป็นงานวิจัยเร่งด่วนที่กรมวิชาการเกษตรจะสามารถพัฒนาต่อยอดงานวิจัย เพื่อเป็นแนวทางการแก้ไขปัญหาให้กับรัฐบาลได้
2.ชุดวิจัยเพื่อการแก้ไขปัญหาให้กับสินค้าเกษตร ซึ่งจะเป็นการแก้ไขปัญหาในระยะกลางและระยะยาว อาทิ งานวิจัยเพื่อยืดอายุผลผลิตสินค้าเกษตรให้เก็บได้นานขึ้นซึ่งจะเอื้อต่อการส่งออกของประเทศ หรืองานวิจัยที่ตอบสนองการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมที่จะเกิดขึ้นในอนาคต รวมถึงการวิจัยเพื่อแปรรูปพืชเป็นพลังงานให้มากขึ้นในเครื่องจักรกลทางการเกษตร เพื่อลดต้นทุนให้แก่เกษตรกร
"ทั้งสองแนวทางดังกล่าวนี้หากเกิดขึ้นจริง และปฏิบัติได้จริงชัดเจนเป็นรูปธรรมได้เร็วเท่าไหร่จะทำให้การทำงานของกรมวิชาการเกษตรตอบโจทย์การแก้ไขปัญหาสินค้าเกษตรให้แก่รัฐบาลและประเทศมากขึ้น นอกเหนือจากนวัตกรรมต่างๆ ที่กรมวิชาการเกษตรดำเนินการอยู่" นายปีติพงศ์ กล่าว