โดยสถานการณ์เศรษฐกิจไทยล่าสุดพบว่า การบริโภคภาคเอกชนในเดือน ส.ค.57 มีสัญญาณหดตัวจากเดือนก่อนหน้า สะท้อนได้จากยอดการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ในเดือน ส.ค.57 หดตัวร้อยละ -0.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และหดตัวร้อยละ -1.4 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า
ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวมปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 70.1 ซึ่งเป็นการปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกัน และเป็นระดับสูงสุดในรอบ 13 เดือน เนื่องจากผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจไทยเพิ่มขึ้นตามสถานการณ์ทางการเมืองที่คลี่คลายลง และการดำเนินนโยบายต่างๆ ของรัฐบาลเริ่มมีความชัดเจนขึ้น
ส่วนการลงทุนภาคเอกชนมีสัญญาณชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า โดยเฉพาะการลงทุนในหมวดก่อสร้าง สะท้อนจากภาษีธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์พบว่า หดตัวทั้งเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ร้อยละ -14.1 ต่อปี และหดตัวเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ -4.5 ต่อเดือน เช่นเดียวกับยอดขายปูนซิเมนต์ที่หดตัวร้อยละ -2.7 ต่อปี และหดตัวร้อยละ -0.1 ต่อเดือน ขณะที่การลงทุนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์หดตัวที่ร้อยละ -21.2 ต่อปี
อย่างไรก็ดี พบว่าปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์สามารถกลับมาขยายตัวที่ร้อยละ 0.7 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ด้านอุปสงค์ต่างประเทศหดตัวต่อเนื่อง โดยการส่งออกสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐในเดือน ส.ค.57 มีมูลค่า 18.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวร้อยละ -7.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และหดตัวร้อยละ -2.1 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า โดยสินค้าส่งออกที่หดตัว ได้แก่ สินค้าในหมวดยานพาหนะ และหมวดเกษตร ในสินค้ายางพารา เป็นสำคัญ
ด้านน.ส.กุลยา ตันติเตมิท ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค กล่าวว่า เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปทานมีสัญญาณแผ่วลงเช่นกันในการผลิตภาคอุตสาหกรรมและการท่องเที่ยวจากต่างชาติ ส่วนการผลิตในภาคเกษตรกรรมสะท้อนจากดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรกรรมในเดือน ส.ค.57 พบว่าสามารถขยายตัวได้ที่ร้อยละ 2.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อย่างไรก็ตามเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าพบว่า ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรกรรมหดตัวที่ร้อยละ -1.6 ต่อเดือน ตามการลดลงของผลผลิตข้าวที่ส่วนหนึ่งได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งในช่วงต้นปี ทำให้เกษตรกรลดการปลูกข้าวนาปรังรอบที่ 2 สอดคล้องกับผลผลิตมันสำปะหลังที่หดตัวลง เนื่องจากมีการเร่งเก็บเกี่ยวไปแล้วในช่วงก่อนหน้า
สำหรับเครื่องชี้ภาคบริการที่สะท้อนจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศ พบว่า จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทยในเดือน ส.ค.57 มีจำนวนทั้งสิ้น 2.08 ล้านคน หรือหดตัวร้อยละ -11.9 ต่อปี อย่างไรก็ดีเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าพบว่าขยายตัวได้ที่ร้อยละ 2.1 ต่อเดือน ส่วนหนึ่งเนื่องจากสถานการณ์ดีขึ้นประกอบกับมีประเทศที่มีการเตือนสำหรับการเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย(Travel Advisory) ลดลงจาก 64 ประเทศ เหลือ 58 ประเทศ
ด้านเสถียรภาพในประเทศยังคงอยู่ในเกณฑ์ดี ขณะที่เสถียรภาพต่างประเทศยังคงแข็งแกร่ง โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ 2.1 ต่อปี ขณะที่อัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับต่ำ โดยอยู่ที่ร้อยละ 0.7 ของกำลังแรงงานรวม หรือคิดเป็นจำนวนผู้ว่างงาน 2.87 แสนคนของกำลังแรงงานรวม
สำหรับเสถียรภาพภายนอกประเทศถือว่าอยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง ซึ่งสะท้อนได้จากทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับสูงที่ 167.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสูงกว่าหนี้ต่างประเทศระยะสั้นประมาณ 2.7 เท่า ซึ่งจะสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้