ศูนย์วิจัยกสิกรฯ คาดส่งออกไทยปีนี้ลดลง 0.3% ติดลบต่อเนื่องเป็นปีที่ 2

ข่าวเศรษฐกิจ Monday September 29, 2014 17:48 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า มูลค่าการส่งออกรายเดือนของไทยน่าจะทยอยฟื้นตัวขึ้นในช่วงเดือนท้ายๆ ของปี 57 ตามอานิสงส์จากปัจจัยทางด้านฤดูกาลรับช่วงเทศกาลทั้งคริสต์มาสและปีใหม่ และจากการเร่งใช้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรในตลาดยุโรป ซึ่งย่อมจะทำให้ยังคงมุมมองว่า การส่งออกรายเดือนจะสามารถกลับมาบันทึกอัตราการขยายตัวได้ภายในปีนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเทียบกับฐานมูลค่าการส่งออกที่ต่ำในช่วง 2 เดือนสุดท้ายของปี 56

แต่เนื่องจากภาพรวมการส่งออกที่มีสัญญาณซบเซามายาวนานตลอดช่วง 8 เดือนแรกของปี 57 (ซึ่งยังคงหดตัวลงร้อยละ 1.36) และสัญญาณการฟื้นตัวที่ยังมีภาพไม่แน่ชัดของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญของไทย ทั้งในส่วนของจีน ยูโรโซน ญี่ปุ่น และอีกหลายประเทศในเอเชียสะท้อนว่าการฟื้นกลับมาขยายตัวของภาคการส่งออกในปีนี้เป็นโจทย์เฉพาะหน้าที่มีความยากมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อสินค้าส่งออกของไทยยังเผชิญกับข้อจำกัดหลายประการ ทั้งราคาสินค้าเกษตรที่ยังมีแนวโน้มตกต่ำ ปัญหาเชิงโครงสร้างการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมที่ยังก้าวไม่ทันกับเทคโนโลยี รวมถึงผลผลิตที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ในสินค้ากลุ่มประมง

"ด้วยเหตุนี้ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า การส่งออกของไทยในปี 57 อาจหดตัวลงร้อยละ 0.3 ซึ่งนับเป็นตัวเลขติดลบต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 จากที่หดตัวร้อยละ 0.2 ในปี 56" เอกสารเผยแพร่ ระบุ

ทั้งนี้ มูลค่าการส่งออกของไทยในเดือน ส.ค.57 อยู่ที่ 18,943 ล้านดอลลาร์ฯ หดตัวเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกันที่ร้อยละ 7.40 ซึ่งนับเป็นอัตราการหดตัวที่มากที่สุดในรอบเกือบ 3 ปี(ประมาณ 33 เดือน) และต่อเนื่องจากที่หดตัวร้อยละ 0.85 ในเดือน ก.ค.57 โดยเป็นผลมาจากฐานเปรียบเทียบที่สูงในปีก่อน โดยเฉพาะการส่งออกทองคำที่มีมูลค่าเพียง 72 ล้านดอลลาร์ฯ ในเดือน ส.ค.57 หดตัวลงถึงร้อยละ 92.9 เมื่อเทียบกับมูลค่าส่งออกที่สูงถึง 1,029 ล้านดอลลาร์ฯ ในเดือน ส.ค.56 ขณะที่การส่งออกน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูป หดตัวลงต่อเนื่องเช่นกันที่ร้อยละ 35.0 และร้อยละ 16.1 ตามลำดับ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า แม้การหดตัวของการส่งออกในเดือน ส.ค.57 จะมีสาเหตุส่วนหนึ่งจากผลของฐานเปรียบเทียบ แต่คงต้องยอมรับว่า การฟื้นตัวที่ล่าช้าของคำสั่งซื้อจากประเทศคู่ค้าสำคัญของไทย (อาทิ การส่งออกรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า ที่หดตัวลงร้อยละ 8.5 และร้อยละ 2.6 ตามลำดับ) และปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ (อาทิ ยางพาราที่หดตัวร้อยละ 23.3 ซึ่งเป็นการหดตัวตลอดช่วง 8 เดือนแรกของปี) ก็เป็นปัจจัยสำคัญที่กดดันให้ภาคการส่งออกยังอยู่ภายใต้สถานการณ์ที่น่าเป็นกังวล

อย่างไรก็ดี สินค้าเกษตรบางรายการของไทย เริ่มกลับมาประคองการขยายตัวได้ เช่น ข้าว (ขยายตัวร้อยละ 30.6) ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง (ขยายตัวร้อยละ 32.9) และน้ำตาล (ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่สองที่ร้อยละ 17.6) เช่นเดียวกับการส่งออกคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ (ขยายตัวร้อยละ 7.0) และแผงวงจรไฟฟ้า (ขยายตัวร้อยละ 9.1) ที่ทยอยฟื้นตัวกลับมา

สำหรับการส่งออกไปยังตลาดสำคัญของไทยกลับมาหดตัวในทุกตลาด (สหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 0.3, ยูโรโซนหดตัวร้อยละ 4.4 และญี่ปุ่นหดตัวร้อยละ 7.6) เช่นเดียวกับตลาดศักยภาพสูงอย่างจีนและอินเดีย ที่หดตัวร้อยละ 14.4 และหดตัวร้อยละ 1.3 ตามลำดับ ซึ่งยิ่งเป็นการย้ำว่าการฟื้นตัวของส่งออกของไทยในช่วงเวลาที่เหลือของปี อาจอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบากมากขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ