"แนวโน้มลดลงจากที่คาดการณ์ไว้เมื่อเดือนมิถุนายน เราคิดว่าพอมีรัฐบาลใหม่แล้วเศรษฐกิจจะฟื้น พอมาดูข้อมูลก็มีปัจจัยหลายตัว ทั้งการส่งออก การบริโภคภายในประเทศ และการลงทุนกลับโตน้อยกว่าที่คาดไว้" น.ส.กิริฎา กล่าว
โดยเวิลด์แบงก์จะแถลงภาวะเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียและประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ในวันที่ 6 ต.ค.นี้
ส่วนกรณีที่รัฐบาลเตรียมอนุมัติมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจนั้น น.ส.กิริฎา กล่าวว่า คงต้องรอดูรายละเอียดก่อน แต่เท่าที่รู้ข่าวจะเป็นการเร่งรัดการลงทุนภาครัฐและภาคเอกชนซึ่งเป็นผลดีในระยะยาว แต่ไม่รู้ว่าจะมีโครงการที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้นหรือไม่ เพราะการลงทุนของภาครัฐมีขั้นตอน ไม่สามารถดำเนินการให้เห็นผลเป็นรูปธรรมในทันที ขณะเดียวกันภาครัฐควรเร่งรัดการเบิกจ่ายงบลงทุนให้เพิ่มขึ้นกว่าเดิมที่ดำเนินการได้เพียง 70-80% เท่านั้น
"หลังวิกฤตเศรษฐกิจปี 40 สัดส่วนการลงทุนภาครัฐลดลงเหลือแค่ 4-5% ของจีดีพี ทั้งที่ควรจะมีราว 8-9% ซึ่งอาจเป็นเพราะภาครัฐต้องการรัดเข็มขัด" น.ส.กิริฎา กล่าว
สำหรับปัจจัยเสี่ยงที่มีต่อเศรษฐกิจของประเทศไทยนั้น ได้แก่ ภาวะการส่งออกหดตัวเนื่องจากได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ทั้งสหรัฐและสหภาพยุโรป ดังนั้นภาครัฐควรเร่งกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศให้มากขึ้นเพื่อมาชดเชยการส่งออกที่ถดถอยลง นอกจากนี้ยังมีปัญหาขีดความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทยในเรื่องคุณภาพและต้นทุนแรงงาน
"ต้องเพิ่มสัดส่วนการบริโภคภายในประเทศให้มากขึ้น แต่ไม่ใช่ลดการส่งออก เพราะดีมานด์ในประเทศยังซบเซาหลังเกิดเหตุรุนแรงทางการเมือง" น.ส.กิริฎา กล่าว