"ในปี 58 จะเห็นสัญญาณเชิงบวกที่เข้ามามากขึ้น โดยเฉพาะ การส่งออกรถยนต์ไทยที่น่าจะได้รับอานิสงส์จากปัจจัยบวกหลายด้าน ซึ่งจะช่วยหนุนให้การผลิตรถยนต์ในปีหน้านี้กลับมายืนอยู่เหนือระดับ 2 ล้านคันได้อีกครั้งหนึ่ง"
ขณะที่ยอดส่งออกรถยนต์ของไทยตลอดทั้งปี 57 นี้อาจจะทำได้เพียง 1,110,000 ถึง 1,130,000 คัน หรือขยายตัวร้อยละ 1 ถึง 3 เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วที่ทำได้ 1,094,089 คัน เพียงเล็กน้อย ซึ่งตัวเลขคาดการณ์ดังกล่าวแม้ว่าจะเป็นตัวเลขที่ยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง แต่ก็ลดลงกว่าที่หลายฝ่ายเคยมองกันว่าอาจจะทำได้ถึง 1,200,000 คัน พอสมควร
ทั้งนี้ การส่งออกรถยนต์ของไทยนั้นหลังจากที่ขยายตัวต่อเนื่องมาตั้งแต่เดือน ก.พ. 57 ก็พลิกกลับมาหดตัวอีกครั้งในเดือนส.ค.ที่ผ่านมาด้วยยอดส่งออก 89,550 คัน หดตัวร้อยละ 13.1 (YoY) เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีที่แล้ว และเป็นการหดตัวลงต่อเนื่องเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าด้วยติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 อีกร้อยละ 2.4 (MoM)
ไม่เพียงเท่านั้น ยอดส่งออกเดือนส.ค.ที่ผ่านมายังเป็นยอดส่งออกที่ต่ำที่สุดนับจากเดือนเม.ย. (ซึ่งเป็นเดือนที่มีวันหยุดมากส่งผลให้ยอดการผลิตรถยนต์เพื่อส่งออกน้อยกว่าเดือนอื่นๆอยู่แล้วตามฤดูกาล) ทำให้ความคาดหวังที่การส่งออกรถยนต์ในปีนี้จะเป็นแรงผลักดันหลักสำคัญให้การผลิตรถยนต์โดยรวมสามารถทำตัวเลขได้เหนือระดับ 2 ล้านคันนั้นลดน้อยถอยลงไปค่อนข้างมาก
"ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าการส่งออกรถยนต์ของไทยปี 2557 นี้ น่าจะขยายตัวได้ต่ำกว่าที่หลายฝ่ายเคยมองกันไว้ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อทิศทางการผลิตรถยนต์ในปีนี้ที่น่าจะต้องหดตัวลงค่อนข้างรุนแรงอย่างมิอาจเลี่ยง" เอกสารเผยแพร่ ระบุ
โดยตลาดหลักซึ่งไทยส่งออกรถยนต์ไปเป็นมูลค่าสูง 10 อันดับแรกที่มีการหดตัวลงแรงและมีส่วนอย่างมากที่ทำให้การขยายตัวลดลงกว่าที่เคยคาด ได้แก่ ออสเตรเลีย (อันดับ 1) ญี่ปุ่น (อันดับ 10) และอินโดนีเซีย (อันดับ 4) ซึ่งมูลค่าการส่งออกรถยนต์ไปยัง 3 ประเทศนี้ ช่วง 8 เดือนแรกของปี 2557 รวมกันแล้วมีมูลค่ากว่า 3,271.77 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือคิดเป็นกว่าร้อยละ 30 ของมูลค่าการส่งออกรถยนต์รวมของไทยในช่วงเดียวกัน และการหดตัวลงของทั้ง 3 ประเทศนี้ เป็นการหดตัวลงทั้งตลาดรถยนต์นั่งและรถเพื่อการพาณิชย์
นอกจากนี้ ยังพบว่า การส่งออกรถยนต์ไปยังทวีปแอฟริกาและทวีปอเมริกาใต้ก็มีการชะลอตัวลงเช่นกัน โดยต่างหดตัวลงร้อยละ 12.9 และ 1.4 ตามลำดับ