SCB EIC แนะไทยขับเคลื่อนห่วงโซ่ผลิต-เจาะ CLMV-ปรับกลยุทธ์และโมเดลธุรกิจ

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday October 2, 2014 16:29 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางสุทธาภา อมรวิวัฒน์ Chief Economist และผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่อาวุโส ธนาคารไทยพาณิชย์(SCB) กล่าวในงานสัมมนาประจำปี “EIC Conference: Thailand in Transformation" ว่า ประเทศไทยกำลังเข้าสู่จุดเปลี่ยนผ่านที่สำคัญ ความผันผวนทางเศรษฐกิจในช่วงผ่านมาส่วนหนึ่งสะท้อนการที่ไทยประสบกับความท้าทายค่อนข้างมากจากทั้งวิกฤตการเงินโลกในปี 2008 สถานการณ์น้ำท่วมใหญ่ในปี 2011 และความไม่สงบทางการเมืองที่เกิดขึ้นเป็นระยะ

ความท้าทายเหล่านี้ได้บดบังศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจไทยที่ลดลง ขณะที่ภาวะแวดล้อมทางเศรษฐกิจกำลังจะเปลี่ยนไป อันได้แก่ ต้นทุนการกู้ยืมของโลกที่เพิ่มขึ้น การปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจของจีน บทบาทของอาเซียนที่ทวีความสำคัญในฐานะคู่แข่งของไทย และการที่ไทยไม่สามารถพึ่งพาการก่อหนี้เพื่อสนับสนุนการเติบโตได้อย่างในอดีต ซึ่งภาวะดังกล่าวจะทำให้แรงหนุนของเศรษฐกิจไทยในอนาคตหดหายไป และความอ่อนแอของพื้นฐานทางเศรษฐกิจไทยจะชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ

EIC ประเมินว่าการขาดแคลนแรงงานของไทยทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ รวมถึงการลงทุนที่อยู่ในระดับต่ำในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา และยังอยู่ในระดับต่ำกว่าช่วงวิกฤตปี 1997 อีกทั้งผลิตภาพที่ชะลอลงค่อนข้างมาก จะทำให้ศักยภาพในการเติบโตของประเทศไทยในระยะกลางเฉลี่ยอยู่ที่ 3.5% เท่านั้น คำถามที่สำคัญคือ เราจะทำอย่างไรเพื่อยกระดับการเติบโตของประเทศ"

ดังนั้น EIC จึงเสนอ 3 แนวทางเพื่อใช้ประโยชน์จากจุดแข็งของประเทศไทยในการยกระดับศักยภาพในการเติบโต

1.ขับเคลื่อนประเทศไปสู่ห่วงโซ่การผลิตที่ใช้นวัตกรรมที่สูงขึ้น โดยทุกภาคส่วนจะต้องร่วมมือกันส่งเสริมการลงทุนด้านเทคโนโลยีที่สอดคล้องกับอุปสงค์ในตลาดโลก และการกระตุ้นให้ภาคเอกชนของไทยสนใจลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา เช่น การสร้างศูนย์ทดสอบผลิตภัณฑ์เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ผลิตไทยในการพัฒนานวัตกรรม เพื่อให้ไทยสามารถขยับไปสู่ห่วงโซ่การผลิตที่สูงขึ้น

2.แสวงหาตลาดผู้บริโภคใหม่ๆ โดยการเสริมสร้างศักยภาพให้ SMEs ไทยสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ ตัวอย่างเช่น การปรับโครงสร้าง BOI เพื่อให้บริการที่ครอบคลุมการทำธุรกิจในต่างประเทศอย่างเต็มรูปแบบ จะเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับธุรกิจไทยในการบุกเบิกตลาดที่มีโอกาสทางธุรกิจสูง เช่น ตลาดในกลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ และเวียดนาม) และกลุ่มชาวต่างชาติที่ทำงานในประเทศไทยและนักท่องเที่ยว ซึ่งมีความต้องการสินค้าและบริการที่มีความซับซ้อนมากขึ้น

3.ปรับตัวให้เข้ากับโครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนไป ซึ่งธุรกิจควรปรับกลยุทธ์และโมเดลธุรกิจเพื่อรองรับความต้องการที่แตกต่างของผู้บริโภคจากการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างรวดเร็ว และบทบาทที่เพิ่มขึ้นของกลุ่ม Gen Y (ผู้ที่เกิดในช่วงปี 1981-2000) ซึ่งปัจจุบันคิดเป็น 28% ของประชากร ใกล้เคียงกับกลุ่มผู้สูงอายุ และมีพฤติกรรมการใช้จ่ายที่แตกต่างชัดเจนจากประชากรกลุ่มอื่นๆ

“EIC หวังว่าการสัมมนาในวันนี้จะเป็นการจุดประกาย ให้ภาคธุรกิจเห็นโอกาสในอนาคตได้ชัดเจนขึ้น ผ่านการแลกเปลี่ยนมุมมองจากนักธุรกิจชั้นนำของประเทศ และนำไปสู่การวางแผนการลงทุนเพื่อพัฒนาขีดความสามารถ ซึ่งจะเป็นแนวทางสำหรับการพัฒนาประเทศที่ยั่งยืน"นางสุทธาภา กล่าว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ