พาณิชย์ แนะไทยเร่งปรับยุทธศาสตร์ส่งออกให้ตอบสนองต่อดีมานด์โลกมากขึ้น

ข่าวเศรษฐกิจ Friday October 3, 2014 15:48 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางอัมพวัน พิชาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนย.) แนะไทยจำเป็นต้องปรับกลยุทธ์ในการส่งเสริมการส่งออกเพื่อให้สอดคล้องกับบริบทโลกที่เปลี่ยนแปลงไป

นอกจากนี้ ไทยต้องเร่งส่งเสริมการส่งออกไปยังตลาดและภูมิภาคใหม่ๆที่มีอำนาจซื้อเพิ่มสูงขึ้น และมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ เช่น กลุ่ม BRICS และตลาดใหม่อื่นๆ เช่น อาเซียน ออสเตรเลีย เกาหลีใต้ ตุรกี เม็กซิโก อียิปต์ บังกลาเทศ และปากีสถาน ในขณะเดียวกันต้องรักษาส่วนแบ่งการตลาดในตลาดดั้งเดิมไว้ โดยการกำหนดกลยุทธ์การส่งออกต้องให้เหมาะสมกับตลาด อาทิ เน้นการสร้าง Loyalty ในสินค้าและบริการไทย การบุกเบิกขยายตลาดและวางรากฐานการค้าต้องกระทำควบคู่ไปกับการเจรจา FTA รวมทั้งต้องส่งเสริมการใช้ประโยชน์จาก FTA และพัฒนาการค้าชายแดน

รวมทั้งยังต้องปรับสินค้าส่งออกของประเทศ โดยศึกษาความต้องการของตลาดมุ่งเน้นสินค้าที่โลกมีความต้องการและเติบโตสูง และสินค้าที่เป็นที่ต้องการในตลาดเฉพาะ (Niche market) ในขณะเดียวกันจะต้องเร่งส่งเสริมและปรับปรุงประสิทธิภาพในการผลิตตลอดห่วงโซ่คุณค่าในสินค้าที่ไทยกำลังสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน เช่น อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องจักร และส่งเสริมการแปรรูปและสร้างมูลค่าเพิ่ม ในสินค้าที่ไทยมีความสามารถในการแข่งขันสูง แต่มีความต้องการในตลาดโลกน้อยและมีราคาตกต่ำ เช่น สินค้าเกษตร และเกษตรแปรรูป โดยมุ่งเน้นการแข่งขันด้วยคุณภาพ แทนการแข่งขันด้วยราคา พร้อมทั้งพัฒนาและส่งเสริมช่องทางทางการค้าใหม่ๆ โดยการใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มการเข้าถึงตลาดและลดต้นทุนการขาย เช่น การใช้ Digital marketing และ E-Commerce รวมทั้งเพื่อเพิ่มการอำนวยความสะดวกในการค้า (Trade facilitation) อาทิ การพัฒนาระบบ National Single Window

"การส่งออกแบบดั้งเดิมในลักษณะเชิงการแข่งขันด้วยราคา การรับจ้างผลิต หรือการส่งออกสินค้าที่ไม่ตอบสนองกับความต้องการของโลก อาจจะไม่เหมาะสมอีกต่อไป แต่กลยุทธ์ที่เหมาะสมจะต้องตอบสนองต่ออุปสงค์ในตลาดโลก (Demand-oriented) มากขึ้น"นางอัมพวัน กล่าว

ทั้งนี้ เนื่องจากในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ไทยสูญเสียความสามารถในการแข่งขันของการส่งออก โดยในเชิงตลาดไทยกำลังเสียส่วนแบ่งการตลาด (Market share) โดยเฉพาะตลาดส่งออกหลัก (สหรัฐอเมริกา ยุโรป และญี่ปุ่น) และจีน ในขณะที่ตลาดใหม่ที่มีการเติบโตสูง เช่น บราซิล รัสเซีย อินเดีย ตุรกี เม็กซิโก ไทยกลับส่งออกไปยังตลาดเหล่านี้น้อย ในเชิงสินค้า ไทยมีความสามารถในการแข่งขันลดลงในสินค้าที่โลกมีความต้องการสูง เช่นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องจักร ขณะที่สินค้าเกษตรส่งออกหลักของไทย เป็นสินค้าที่ตลาดโลกมีความต้องการน้อยและมีราคาตกต่ำ เช่น ยางพาราและน้ำตาลทราย นอกจากนี้ สินค้าที่ความต้องการในตลาดโลกขยายตัวสูง เช่น เหล็กและเหล็กกล้า และผลิตภัณฑ์ทางเภสัชกรรม กลับไม่ใช่เป็นสินค้าส่งออกหลักของไทย


แท็ก การส่งออก  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ