นอกจากนี้ กระทรวงการคลัง ธนาคารออมสิน เครดิตบูโร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาแก้ปัญหาลูกหนี้ที่ติดปัญหาแบล็กลิสต์ โดยมีสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.)เป็นประธาน เพื่อให้ลูกหนี้กลับเข้ามาหาแหล่งเงินทุนในระบบได้ โดยเบื้องต้นต้องมีการหาวิธีการผ่อนคลายหลักการต่าง ๆ เพื่อให้ลูกหนี้สามารถเข้าถึงแหล่งทุนได้ง่ายขึ้น
"มีลูกค้าที่ยังติดแบล็กลิสต์จำนวนมาก โดยในส่วนนี้ธนาคารประเมินว่ามีลูกหนี้ที่ติดแบล็กลิสต์ แต่ยังมีศักยภาพในการดำเนินกิจการได้อยู่ราว 30% ซึ่งลูกหนี้บางส่วนผ่อนชำระหมดแล้ว แต่ยังติดแบล็กลิสต์อยู่ ก็เป็นปัญหาว่าทำให้เข้าถึงแหล่งทุนไม่ได้ ซึ่งคณะกรรมการที่ตั้งขึ้นมาก็ต้องไปดูว่าจะผ่อนคลายหลักเกณฑ์นี้อย่างไร ขณะที่อีก 50% เป็นลูกหนี้ที่ติดแบล็กลิสที่มีปัญหาก็ต้องไปหาแนวทางการแก้ปัญหาอีกชั้นหนึ่ง" นายธัชพล กล่าว
ก่อนหน้านี้ในปี 47 และปี 53 ธนาคารดำเนินโครงการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบตามนโยบายของรัฐบาล จากข้อมูลพบว่ามีลูกหนี้นอกระบบอยู่สูงถึง 1 ล้านราย โดยเป็นลูกหนี้ในกลุ่มเกษตรกร 5 แสนราย ซึ่งเป็นลูกหนี้ของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และลูกหนี้ทั่วไปอีก 5 แสนราย เป็นลูกหนี้ของธนาคาร จึงดำเนินการแก้ปัญหาได้กว่า 20% หรือคิดเป็นวงเงิน 1 หมื่นล้านบาท
นายธัชพล กล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมการนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ(คนร.) หรือ ซูเปอร์บอร์ด มีมติมอบอำนาจให้ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ทำหน้าที่กำกับดูแลธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ โดยสามารถออกกฎเกณฑ์กำกับดูแล การตรวจสอบความเหมาะสมของผู้บริหาร รวมทั้งมีอำนาจในการสั่งการแก้ไขปัญหาได้อย่างอิสระนั้น มองว่าธนาคารจะไม่ได้รับผลกระทบในส่วนนี้ เนื่องจากที่ผ่านมา ธปท.ก็เข้ามากำกับดูแลธนาคารเฉพาะกิจของรัฐในทางอ้อมอยู่แล้ว และธนาคารเองก็ใช้หลักเกณฑ์การปล่อยสินเชื่อตามที่ ธปท.กำหนด แต่อาจต้องปรับหลักเกณฑ์ลงทุนให้สอดคล้องตามนโยบายของ ธปท.มากขึ้น
"อยากชี้แจงให้ ธปท.เข้าใจว่า ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐมีการทำกิจกรรมเพื่อสังคมอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นการใช้หลักเกณฑ์ต่างๆ ที่กำหนดใช้กับธนาคารพาณิชย์ทั้งหมดมาใช้บริหารจัดการกับธนาคารเฉพาะกิจของรัฐอาจไม่เหมาะสม จึงอยากให้มีการปรับในส่วนนี้ด้วย" นายธัชพล กล่าว