นอกจากนี้ จะเร่งเจรจาหาแหล่งปิโตรเลียมจากประเทศเพื่อนบ้านเพิ่มเติม โดยเฉพาะพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา ที่คาดว่ามีปริมาณปิโตรเลียมจำนวนมาก ควบคู่กับการปรับโครงสร้างพลังงานให้สะท้อนต้นทุน โดยเฉพาะก๊าซ NGV และ LPG เพื่อจูงใจให้เกิดการลงทุนผลิตปิโตรเลียม อย่างไรก็ตาม จะมีการหารือเรื่องเปิดสัมปทานปิโตรเลียมในที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) ในวันที่ 22 ต.ค.นี้
ด้านนายศิริ จิระพงษ์พันธ์ ผู้อำนวยการสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า รัฐบาลจำเป็นต้องเร่งเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 และจัดหาแหล่งปิโตรเลียมเพิ่มเติมให้เพียงพอกับความต้องการใช้ที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเบื้องต้นได้ทำแผนศึกษากรณีร้ายแรงที่สุด หากไม่สามารถเจรจาต่ออายุสัมปทานเดิมให้ลงทุนได้อย่างต่อเนื่อง แม้จะมีการจัดหาพลังงานตามแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP) บมจ. ปตท.(PTT) จะต้องสร้างคลังสำรองเพื่อนำเข้าก๊าชธรรมชาติเหลว(LNG) เพิ่ม 6-8 คลัง หรือคิดเป็นปริมาณ LNG นำเข้า 40-50 ล้านตัน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อภาระค่าครองชีพที่จะสูงขึ้นในอนาคต และค่าไฟฟ้าจะแพงขึ้นจากปัจจุบัน 3.90 บาท/หน่วย เป็น 5.50 บาท/หน่วย อาจส่งผลให้บริษัทต่างชาติไม่กล้าเข้ามาลงทุนในประเทศไทย เพราะมีต้นทุนการผลิตสูง