นบข.มีมติให้ชะลอขายข้าวหอมมะลิ-ข้าวนึ่ง/มอบมท.ดูแลจัดโซนนิ่งในระยะยาว

ข่าวเศรษฐกิจ Monday October 6, 2014 14:45 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (นบข.) นัดแรก ว่า ได้มีการพูดถึงมาตรการเร่งด่วนระยะสั้นและมาตรการระยะยาว รวมถึงการช่วยเหลือเกษตรกรที่ยังไม่ได้รับเงินจำนำข้าวที่เหลืออยู่ 2-3 จังหวัด ว่า ในขณะนี้ความต้องการข้าวมีอยู่ในทุกพื้นที่ แต่ราคาข้าวทั้งโลกไม่สูงมากขึ้น เพราะทั่วโลกมีการปลูกข้าวมากขึ้น และมีการแข่งขันด้านราคามากขึ้น แต่ก็เป็นที่น่ายินดีที่ไทยยังสามารถครองแชมป์ส่งออกข้าวสูงสุดของอาเซียน แต่รัฐบาลก็จะพยายามหามาตรการทำให้ราคาสูงขึ้น เช่น การปรับปรุงพันธุ์ข้าว กำหนดพื้นที่เพาะปลูกที่เหมาะสม รวมถึงดูความต้องการของตลาด
"ยืนยันว่าขณะนี้รัฐบาลเดินหน้าการทำงานเข้าสู่ระยะที่ 2 แล้ว การผลักดันโครงการต่างๆ ไม่ใช่โครงการประชานิยม แต่เป็นการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน และเป็นการวางรากฐานในอนาคต"นายกรัฐมนตรี กล่าว

ทั้งนี้ รัฐบาลช่วยเหลือเกษตรกรชาวนา จะแบ่งกลุ่มเพื่อดูแลและแก้ปัญหาให้อย่างเป็นระบบ 4 กลุ่ม คือ 1.เกษตรกรที่มีที่ดินทำกินน้อย 2.เกษตรกรที่มีที่ดิน 40 ไร่ขึ้นไป 3.ชาวนาที่มีเงินทุน มีเครื่องมือจักรกลทางการเกษตร ทำให้ได้ผลผลิตมากและมีคุณภาพ 4.เป็นเจ้าของที่ดินและปล่อยเช่าให้ชาวนาคนอื่นๆ

สำหรับมาตรการช่วยเหลือของรัฐบาล จะให้ศูนย์ดำรงธรรมและเกษตรจังหวัดทำหน้าที่ประสานกันในการขับเคลื่อนช่วยเหลือเกษตรกร กำหนดพื้นที่เพาะปลูก รวมถึงสร้างแรงจูงใจในการปรับเปลี่ยนการเพาะปลูกหรือจัดโซนนิ่ง โดยจะให้กระทรวงมหาดไทยเป็นประธานทำงาน ร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ เพื่อเป็นต้นแบบในการนำไปใช้กับพืชชนิดอื่น เช่น ยางพารา รวมทั้งจะดูแลการขึ้นทะเบียนชาวนา

ทั้งนี้ มีแนวคิดจะสร้างเกษตรกรรุ่นใหม่ โดยให้ทุกกระทรวงดูแลเรื่องการหาทุนการศึกษาให้ลูกชาวนา เพื่อที่จะเติบโตเกษตรกรที่ดีในอนาคต

"ผมมีความคิดจะส่งเสริมให้คนรักชาวนา ทำอย่างไรให้คนทั่วโลกให้มากินข้าวไม่ใช่กินขนมปัง ให้คนทั่วโลกกินข้าวมากขึ้นร่างกายจะได้แข็งแรงและจะทำให้เราขายข้าวได้มากขึ้น"

นอกจากนี้ มีแนวคิดจะพัฒนาให้พื้นที่ปลูกข้าวเป็นแหล่งท่องเที่ยววิถีพื้นบ้าน ให้นักท่องเที่ยวเรียนรู้การปลูกข้าวทุกขั้นตอน

ด้านม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ กล่าวว่า ที่ประชุม นบข. ได้หารือมาตรการรับมือกับข้าวที่จะทยอยออกมาในเดือน พ.ย. และ ธ.ค.นี้ ซึ่งมีประมาณ 27 ล้านเกวียน แบ่งเป็น ข้าวหอมมะลิ 8 ล้านเกวียน ข้าวนึ่ง 7 ล้านเกวียน และข้าวขาว ซึ่งมีแนวทางในการช่วยเหลือ ข้าวหอมมะลิ และข้าวนึ่ง จะให้ชาวนาเก็บไว้ในยุ้งฉางของตนเอง รอจนกว่าราคาจะดีขึ้น โดย ธ.ก.ส. จะให้สินเชื่อร้อยละ 80 ของมูลค่าข้าวให้กับชาวนา

ส่วนข้าวขาว ซึ่งแบ่งเป็นข้าวขายเกรดสูง ประมาณ 5 ล้านเกวียน จะมีราคาที่ดีอยู่แล้ว ส่วนข้าวขาวคุณภาพต่ำ ประมาณ 6-7 ล้านเกวียนนั้น ทางกระทรวงพาณิชย์จะปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้กับโรงสี เพื่อรับซื้อข้าวขาวคุณภาพต่ำมาเก็บไว้ รอการขาย

มาตรการดังกล่าวจะเริ่มดำเนินการทันที เนื่องจากมีชาวนาได้มาขึ้นทะเบียนไว้เรียบร้อยแล้ว และจะนำมาตรการดังกล่าว เข้าสู่ที่ประชุม ครม. ในวันพรุ่งนี้ (7 ต.ค.)

ส่วนมาตรการระยะยาว ได้มีการตั้งคณะทำงานขึ้นมาทำงาน 2 คณะ คณะแรกจะเข้ามาดูการจัดทำโซนนิ่งเกษตร ส่วนอีกคณะจะดูแลเรื่องที่ดินทำกินของเกษตรกร จะสำรวจพื้นที่ทำเกษตรอย่างชัดเจนเพื่อช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย อีกทั้งส่งเสริมให้ชาวนาลดพื้นที่การทำนาปรัง ซึ่งจะตรงกับช่วงฤดูแล้ง โดยรัฐบาลก็จะเข้ามาดูแลเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด และจะมีการจัดทำแผน เสนอมายังที่ประชุมในครั้งต่อไป

"มาตรการในระยะยาว จะดูแลชาวนาในรูปแบบไม่ให้ราคาข้าวตกต่ำ แต่ราคาข้าวจะสูงขึ้นหรือไม่ ต้องขึ้นอยู่กับสถานการณ์ตลาดโลก โดยปัจจุบันราคาข้าวขาวอยู่ที่ 7,000-8,000 บาท"

ส่วนการระบายสต็อกข้าวของรัฐบาล กระทรวงพาณิชย์ได้ดำเนินการอยู่อย่างต่อเนื่อง ซึ่งล่าสุดในเดือน ส.ค.-ก.ย. ระบายข้าวได้ถึง 9 แสนตัน แต่จะไม่มีการระบายสต็อกข้าว ในช่วงที่ข้าวของชาวนาออกมามาก

รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ ยังเชื่อมั่นว่า ไทยจะกลับมาครองแชมป์ส่งออกข้าวเป็นอันดับ 1 ของโลก โดยขอดูตัวเลขการส่งออกในเดือนธ.ค.นี้ก่อน

พร้อมยืนยัน ว่า มาตรการช่วยเหลือชาวนาไร่ละ 1 พันบาทนั้น ชาวนาที่ขึ้นทะเบียนไว้จะได้รับเงินอย่างแน่นอน ผ่านทางบัญชี ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) โดยไม่มีเจ้าของที่ดินเข้ามาสวมสิทธิ์หรือรับเงินแทนชาวนา ซึ่งขณะนี้มีชาวนาตัวจริงมาลงทะเบียนไว้ประมาณ 3.4 ล้านครัวเรือน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ