นอกจากนี้ ยังไม่สามารถบอกได้ว่าธนาคารจะต้องการใช้เงินเพิ่มทุนจากกระทรวงการคลังและผู้ถือหุ้นทั้งหมดเท่าไหร่ โดยคงต้องรอดูความชัดเจนเรื่องความต้องการใช้เงินจากกระบวนการจัดทำ Due Diligence และแผนฟื้นฟูก่อน โดยก่อนหน้านี้คณะกรรมการธนาคารชุดเดิมได้เสนอไปยังกระทรวงการคลังเพื่อขอเงินเพิ่มทุนจำนวน 7 พันล้านบาท
“ตอนนี้กระบวนการทำ Due Diligence ผ่านไปแล้วกว่า 74% ซึ่งคาดว่าภายในสิ้น พ.ย. นี้จะได้ข้อสรุปที่ชัดเจน ส่วนตัวเลขเงินที่จะขอเพิ่มทุนนั้น ยืนยันว่ายังไม่มีตัวเลขในใจจึงยังชี้แจงรายละเอียดไม่ได้ โดยสัดส่วนเงินเพิ่มทุนคงต้องไปดูความต้องการใช้เงินเป็นที่ตั้ง ธนาคารไม่อยากเอาเงินที่ได้มากองไว้โดยไม่ได้ใช้ประโยชน์ โดยคาดว่าเมื่อการจัดทำ Due Diligence และแผนฟื้นฟูแล้วเสร็จ เงินเพิ่มทุนจะเข้ามาถึงธนาคารในช่วงต้นปี 2558" นายชัยวัฒน์ กล่าว
นายชัยวัฒน์ กล่าวอีกว่า ภายหลังจากฟื้นฟูกิจการของธนาคารเรียบร้อยแล้ว ไอแบงก์จะเดินหน้าในการสร้างพันธมิตรทางธุรกิจในต่างประเทศ อาทิ มาเลเซีย อินโดนีเซีย และพม่า เพื่อขยายการทำธุรกรรมไปยังประเทศเหล่านี้ให้มากขึ้น และเพื่อให้ธนาคารแข็งแกร่งสามารถรองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ได้ในอนาคต
สำหรับผลการดำเนินงานของธนาคาร ปัจจุบันมีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) จำนวน 30-40% ของจำนวนสินเชื่อทั้งหมดกว่า 1 แสนล้านบาท ขณะที่เงินฝากปัจจุบัน อยู่ที่ 1.06 แสนล้านบาท ซึ่งอยู่ในเกณฑ์ที่ดี ทั้งนี้ทางคณะกรรมการชุดใหม่ยืนยันว่าจะสามารถบริหารงานและแก้ปัญหาของธนาคารให้สามารถกลับมาเดินหน้าและเป็นเครื่องมือในการสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศได้ โดยจะเน้นให้สินเชื่อกับลูกค้าชาวมุสลิม และลูกค้าทั่วไปที่ต้องการทำการค้ากับชาวมุสลิม ขณะที่การปล่อยสินเชื่อรายใหญ่และรายกลาง คงต้องชะลอไปก่อน