ปัจจุบันมีสถาบันเกษตรกรเข้าร่วมโครงการฯ รวม 563 แห่ง ในพื้นที่ 60 จังหวัด รวบรวมข้าวเปลือกเพื่อขาย 556 แห่ง เป้าหมาย 4 ล้านตันข้าวเปลือก รวบรวมข้าวเปลือกเพื่อเก็บไว้แปรรูป 103 แห่ง เป้าหมาย 4 แสนตันข้าวเปลือก (180,000 ตันข้าวสาร) ซึ่งมีแผนขอกู้จาก ธ.ก.ส. รวม 18,326 ล้านบาท สถาบันเกษตรกรจ่ายอัตราดอกเบี้ยให้ ธ.ก.ส. อัตราร้อยละ 1 ต่อปี รัฐบาลชดเชยดอกเบี้ยให้ ธ.ก.ส. อัตราร้อยละ 3 ต่อปี ระยะเวลา 12 เดือน เริ่มโครงการ 1 ตุลาคม 2557 – 30 กันยายน 2558 เป็นการเสริมสภาพคล่องทุนหมุนเวียนแก่ระบบสหกรณ์ สร้างกลไกตลาดข้าวในท้องถิ่น เพื่อให้เกษตรกรในพื้นที่ได้รับความเป็นธรรมมากขึ้น
และ โครงการลดดอกเบี้ยเงินกู้เพื่อการผลิตแก่เกษตรกร ผู้ปลูกข้าวปีการผลิต 2557/58 จะลดดอกเบี้ยให้กับสมาชิกกู้ยืมไปเพาะปลูก ร้อยละ 3 ต่อปี วงเงินสินเชื่อไม่เกิน 50,000 บาท ระยะเวลา 6 เดือน ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการผลิตให้กับเกษตรกรเช่นกัน นายชวลิต กล่าวอีกว่า ได้มอบหมายให้กรมส่งเสริมการเกษตรเป็นหน่วยงานหลัก ร่วมกับ กรมส่งเสริมสหกรณ์ กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ และ ธ.ก.ส. บูรณาการทำงานร่วมกัน ซึ่ง ธ.ก.ส. พร้อมที่จะโอนเงินกู้ให้สหกรณ์เพื่อนำไปรับซื้อข้าวเปลือก สหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรก็มีความพร้อมที่จะดำเนินธุรกิจข้าวได้ทันที ภายใต้การสนับสนุนของหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งในส่วนกลางและระดับจังหวัด และการจ่ายเงินเพื่อช่วยเหลือเรื่องปัจจัยการผลิตให้กับเกษตรกรในอัตราไร่ละ 1,000 บาท แต่ไม่เกิน 15 ไร่นั้น มีเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนไว้กับกรมส่งเสริมการเกษตรแล้ว จำนวน 2.8 ล้านราย คิดเป็นร้อยละ 88 ซึ่งจะสามารถจ่ายเงินช่วยเหลือได้ตั้งแต่วันที่ 20 ตุลาคมนี้ และหากเกษตรกรมีเอกสารครบถ้วนก็จะสามารถโอนเงินเข้าบัญชีได้ภายใน 3 วัน นับเป็นความร่วมมือของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ สหกรณ์ภาคเกษตรและกลุ่มเกษตรกรในโครงการฯทั้ง 563 แห่ง หน่วยงานในกระทรวงเกษตรฯ ทุกหน่วยงานที่บูรณาการร่วมกันให้บรรลุเป้าหมาย และจะช่วยกันผลักดันขบวนการสหกรณ์ให้มีความเข้มแข็ง เป็นองค์กรสำคัญในการช่วยเหลือสมาชิกสหกรณ์ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เกษตรกรได้รับประโยชน์สูงสุด และเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ภาคเกษตรของประเทศต่อไป