โดยในช่วงรอยต่อทางเศรษฐกิจและการเมืองขณะนี้ นักลงทุนต่างประเทศและทางการไทยเห็นพ้องกันว่า นโยบายของรัฐบาลที่สนับสนุนภาคธุรกิจ(pragmatic and market friendly)เป็นสิ่งที่สำคัญมาก โดยส่วนหนึ่งเห็นว่าประเด็นทางปรับตัวทางการเมืองเป็นเรื่องภายในประเทศ และด้วยขนาดของเศรษฐกิจไทยและการเป็นส่วนหนึ่งของอาเซียน ไทยยังเป็นที่น่าสนใจในเชิงกลยุทธ์การลงทุนของนักลงทุนต่างประเทศในตลาดเกิดใหม่(emerging markets) ส่วนในระยะปานกลางความคืบหน้าในการปฏิรูปเศรษฐกิจ การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน การลดความเหลื่อมล้ำในการกระจายรายได้ และนโยบายที่เพิ่มความสามารถในการแข่งขันของไทยจะเป็นปัจจัยสำคัญในการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ
ในระหว่างการพบปะหารือ นักลงทุนได้แสดงความสนใจที่จะลงทุนต่อเนื่องในตราสารการเงินไทย ซึ่งทีมไทยชี้แจงว่าจะมีการออกตราสารเพื่อ finance การลงทุนภาครัฐในโครงสร้างพื้นฐานเป็นสำคัญ นอกจากนี้ นักลงทุนยังแสดงความสนใจในตราสารภาคเอกชนที่ออกเป็นเงินตราต่างประเทศด้วย
ทั้งนี้ ผู้ว่าการฯ ธปท.ได้ยืนยันบทบาทของ ธปท.ในการดูแลเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและระบบสถาบันการเงินให้มีความเข้มแข็ง ซึ่งจะเป็นพื้นฐานสำคัญของการเติบโตที่ยั่งยืน นอกจากนี้ ได้ให้ความมั่นใจแก่นักลงทุนในเรื่องความเพียงพอของเงินสำรองทางการ และความพร้อมในการดูแลการเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างประเทศที่มีระบบอัตราแลกเปลี่ยนลอยตัวเป็นกลไกหลักช่วยปรับตัวอยู่แล้ว
"ในส่วนของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปีนี้และในปีหน้านั้น อยากให้ focus ที่ทิศทางของการฟื้นตัวมากกว่าตัวเลขเศรษฐกิจระยะสั้น ซึ่งต้องติดตามการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศทั้งการบริโภคและลงทุนเอกชน ที่น่าจะปรับตัวดีขึ้นตามการใช้จ่ายภาครัฐ ซึ่งในส่วนของ ธปท.ประมาณการว่าแรงส่งของการใช้จ่ายในประเทศเฉลี่ยแต่ละไตรมาสในปี 2558 น่าจะอยู่ในอัตราที่สูงกว่าที่ประเมินโดยธนาคารโลก"นายจิรเทพ กล่าว
สำหรับเรื่องหนี้ภาคครัวเรือน ผู้ว่าการ ธปท. ชี้แจงว่า ครัวเรือนในกลุ่มรายได้สูงไม่มีประเด็นน่าเป็นห่วง และในเรื่องความสามารถในการชำระหนี้ทางสถาบันการเงินก็ดูแลในเรื่องนี้ใกล้ชิดอยู่แล้ว ส่วนในระยะปานกลางต้องแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนด้วยการให้ความรู้ทางการเงิน(financial literacy) และการสร้างโอกาสในการเพิ่มรายได้