แต่ทั้งนี้จะมีการปรับเพิ่มขึ้นจากอัตราปัจจุบันที่ 7% เป็นเท่าใดนั้นคงต้องขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐบาล อย่างไรก็ดี เชื่อว่าการปรับขึ้น VAT จะไม่ส่งผลกระทบต่อผู้ที่มีรายได้น้อย ขณะที่ผู้ที่มีรายได้ในระดับกลางขึ้นไปสามารถรับภาระในส่วนที่เพิ่มขึ้นได้
พร้อมกันนี้ กระทรวงการคลังยังอยู่ระหว่างการปรับปรุงภาษีอื่นๆ ให้มีความเหมาะสมและเป็นสากลมากขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมาส่วนใหญ่มีความหละหลวม ประสิทธิภาพการจัดเก็บยังไม่รัดกุม และยังมีช่องโหว่ทางภาษีอยู่มาก จนเป็นผลให้เกิดการเลี่ยงหรือโกงภาษี โดยมาตรการภาษีที่รัฐบาลยืนยันจะดำเนินการอย่างแน่นอน ได้แก่ ภาษีมรดก ขณะนี้ร่างกฎหมายแล้วเสร็จกว่า 80-90% หลักเกณฑ์สำคัญคือเก็บภาษีที่อัตรา 10% เท่านั้น ไม่มีอัตราก้าวหน้า และสำหรับผู้รับมรดกตั้งแต่ 50 ล้านบาทขึ้นไป
ส่วนภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างนั้น มีการกำหนดเพดานการจัดเก็บอยู่ที่ไม่เกิน 4% ขึ้นอยู่กับที่ดินและการใช้งาน พร้อมทั้งเร่งให้กรมธนารักษ์ดำเนินการประเมินราคาที่ดินให้ครบ 30 ล้านแปลงโดยเร็ว โดยอาจต้องมีการจ้างบริษัทเอกชนเข้ามาช่วยดำเนินการในส่วนนี้
นายรังสรรค์ กล่าวอีกว่า สำหรับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ที่ผ่านมามีการปรับขั้นอัตราให้ถี่ขึ้น เพื่อช่วยให้คนที่มีรายได้ไม่มากนักเสียภาษีต่ำลง ขณะที่ภาษีเงินได้นิติบุคคลนั้นอยู่ระหว่างพิจารณาว่าจะให้คงอัตรา 20% ต่ออีก 1 ปี หรือปรับเพิ่มขึ้นไปที่ 30% เหมือนเดิม ซึ่งขณะนี้นโยบายยังไม่ชัดเจน อีกทั้งต้องมีการศึกษาเปรียบเทียบกับต่างประเทศด้วย โดยเฉพาะประเทศสมาชิกอาเซียน แต่ส่วนตัวมองว่าอัตราภาษีนิติบุคคลของไทยอยู่ในระดับต่ำที่สามารถดึงดูดความน่าสนใจในการลงทุนแล้ว
"กระทรวงการคลังยังตั้งเป้าจัดทำงบประมาณสมดุลให้ได้ภายในปี 60-61 ดังนั้นแนวทางการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ จะต้องอยู่ภายใต้กรอบวินัยทางการคลัง ปัจจุบันฐานะการคลังยังแข็งแกร่ง มีเงินคงคลังสูงถึง 4 แสนล้านบาท คงต้องดูในส่วนนี้อีกทีว่าจะบริหารจัดการอย่างไรให้เกิดประโยชน์มากขึ้น จากปัจจุบันที่นำไปฝากไว้ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)แต่ไม่ได้รับดอกเบี้ย รวมถึงต้องไปดูเงินนอกงบประมาณจาก 115 กองทุน และเงินรายได้ของมูลนิธิที่หลบซ่อนตามกระทรวงต่าง ๆ อีกจำนวนมากว่าทำไมไม่ส่งเข้าคลัง ซึ่งส่วนนี้สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.)กำลังตามอยู่" นายรังสรรค์ กล่าว