“แม้ว่าขณะนี้แนวคิดที่จะไม่ต่ออายุโครงการให้สิทธิลดหย่อนภาษี สำหรับการซื้อหน่วยลงทุนของกองทุนรวมหุ้นระยะยาวในปี 2559 นั้นจะยังไม่มีความชัดเจน แต่หากภาครัฐมีนโยบายที่จะไม่ต่ออายุโครงการนี้จริง คนที่ต้องการหาผลิตภัณฑ์เพื่อสิทธิประโยชน์ทางภาษีก็คงต้องหาช่องทางอื่น ในการกระจายการลงทุน และสามารถใช้ผลิตภัณฑ์นั้นๆ ไปลดหย่อนภาษี ซึ่งผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตก็น่าจะเป็นทางเลือกหนึ่งที่จะได้รับความน่าสนใจมากขึ้น" นายเชาว์พันธุ์ กล่าว
ทั้งนี้ ในปัจจุบันผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตที่สามารถนำมาใช้ในการหักลดหย่อนภาษีได้มีอยู่ 2 ประเภท ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตที่ให้ความคุ้มครอง 10 ปีขึ้นไป สามารถนำมาหักลดหย่อนภาษีได้ 100,000 บาท และผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตประเภทบำนาญ สามารถนำมาหักลดหย่อนภาษีได้ 200,000 บาท รวมแล้วผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตสามารถนำมาใช้ในการหักลดหย่อนภาษีได้สูงสุดถึง 300,000 บาท โดยแนวคิดของผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตมีเจตนารมณ์ให้ประชาชนรู้จักวางแผนการเงินระยะยาว มุ่งเน้นให้ความคุ้มครองเกี่ยวกับการสร้างหลักประกันรายได้ให้แก่ผู้สูงอายุเมื่อยามเกษียณ ซึ่งผู้เอาประกันภัยจะได้รับเงินบำนาญเป็นรายงวดตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญากรมธรรม์
นอกจากนี้ หากแนวคิดที่จะไม่ต่ออายุโครงการให้สิทธิลดหย่อนภาษีมีผลบังคับใช้จริงนั้น นายเชาว์พันธุ์ ระบุว่าอุตสาหกรรมประกันชีวิตก็น่าจะได้รับอานิสสงค์ ในการเป็นช่องทางผลิตภัณฑ์ทางเลือกที่น่าสนใจให้กับผู้ที่มองหาผลิตภัณฑ์เพื่อลดหย่อนภาษี แต่เพื่อเป็นการกระตุ้นให้ประชาชนตระหนักและเห็นความสำคัญของการวางแผนการเงิน ภาครัฐน่าจะมีการขยายเพดานการลดหย่อนภาษี จากผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตที่ให้ความคุ้มครอง 10 ปีขึ้นไป ลดหย่อนเพิ่มอีก 100,000 บาท เป็น 200,000 บาท หรือ ประเภทบำนาญจาก 200,000 บาท เป็น 300,000 บาท เพื่อสร้างแรงจูงใจ และกระตุ้นให้ประชาชนวางแผนการเงินเพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่วัยเกษียณได้อย่างมีความสุขมากขึ้น
"ที่ผ่านมาอุตสาหกรรมประกันชีวิต ก็มีการหารือกันถึงเรื่องนี้ ซึ่งหากภาครัฐมีการยกเลิกสิทธิ์การลดหย่อนทางภาษีจาก LTF จริงในปี 59 ธุรกิจประกันชีวิตก็น่าจะได้รับประโยชน์ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ภาครัฐก็ควรสนับสนุนเรื่องการขยายเพดานลดหย่อนภาษี สำหรับผลิตภัณฑ์ประกันชีวิต ที่มีเงื่อนไข ตามเกณฑ์ของกรมสรรพากรเพื่อสร้างแรงจูงใจให้กับประชาชนตระหนักถึงความสำคัญของการวางแผนการเงินในระยะยาวด้วยตนเองมากกว่าการพึ่งพาจากภาครัฐ และจะได้ไม่เป็นภาระกับภาครัฐในระยะยาว อีกทั้ง ธุรกิจประกันมีส่วนสำคัญต่อการขยายตัวของเศรษฐกิขของประเทศ เป็นปัจจัยที่เสริมความเข้มแข็งของภาคครัวเรือน ทั้งเป็นการออมเงินที่ได้ผลประโยชน์สูงที่มีระบบ" นายเชาว์พันธุ์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม ในช่วง 8 เดือนที่ผ่านมา เบี้ยประกันชีวิตรับรวม ณ สิ้นเดือนสิงหาคม มีทั้งสิ้น 331,150.16 ล้านบาท อัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 15.51 โดยแยกเป็นเบี้ยประกันชีวิตรับรายใหม่จำนวน 116,523.60 ล้านบาท อัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 17.04 และเบี้ยประกันชีวิตรับปีต่อไป จำนวน 214,626.56 ล้านบาท อัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.70