นายสมชาย หาญหิรัญ ผู้อำนวยการ สศอ.กล่าวว่า โครงการพัฒนาอุตสาหกรรมวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์และสุขภาพร่วมกับหน่วยงานพันธมิตร แต่ละโครงการมีผลการดำเนินงานที่ประสบความสำเร็จอย่างสูง สำหรับการดำเนินงานทั้ง 3 โครงการนี้ได้ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว ซึ่งมีผลสำเร็จตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ โดยได้ช่วยยกระดับความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการให้สูงขึ้น พร้อมทั้งได้รับความมือเป็นอย่างดีจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ สถาบันพลาสติก และสมาคมส่งเสริมเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น
ได้แก่ 1.โครงการพัฒนาคลัสเตอร์อุตสาหกรรมวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์และสุขภาพ ด้านการเพิ่ม Productivity และพัฒนามาตรฐาน ISO 13485 โดยได้ยกระดับผลิตภาพของภาคอุตสาหกรรม ทั้งด้านการบริหารจัดการและการผลิตให้กับโรงงานที่เกี่ยวข้องจำนวน 42 โรงงาน และช่วยผู้ประกอบการเตรียมความพร้อมในการขอรับรองมาตรฐาน ISO 13485 ซึ่งเป็นมาตรฐานบังคับของ AEC อีกจำนวน 117 โรงงาน
2.โครงการวิจัยพัฒนาและออกแบบวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์และสุขภาพ โดยได้เชื่อมโยงผลงานงานวิจัยที่มีของหน่วยงานต่างๆ ไปสู่การผลิตในเชิงพาณิชย์ โดยให้การส่งเสริมตั้งแต่การออกแบบพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ การทดสอบทางคลินิกเพื่อยืนยันผลการใช้งานจริงกับผู้ป่วย หรือการพัฒนาให้ได้รับการรับรองมาตรฐานสากล รวมทั้งสิ้น 41 โครงการ
และ 3.โครงการศึกษาวิจัยโอกาสทางธุรกิจและการเพิ่ม Value Creation สำหรับอุตสาหกรรมวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ มีกิจกรรมต่างๆ ที่ได้ดำเนินการ ได้แก่ การศึกษาผลิตภัณฑ์อุปกรณ์การแพทย์ที่ประเทศไทยมีศักยภาพในอนาคต และแนวทางการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ดังกล่าว, การจัดทำฐานข้อมูลเชิงลึกอุตสาหกรรมวัสดุอุปกรณ์การแพทย์ หรือ Medical Intelligence Units เพื่อให้ผู้ประกอบการได้ใช้ประโยชน์ในการดำเนินธุรกิจ และใช้ในการกำหนดนโยบายของภาครัฐ และได้รวมเข้าเป็นหนึ่งในระบบฐานข้อมูลเชิงลึกของสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรมในปี 2557, การจัดทำคู่มือแนวทางการเลือกซื้อวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ในเชิงเทคนิคและวิศวกรรม สำหรับอุปกรณ์สำคัญต่างๆ
ตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา กระทรวงอุตสาหกรรมได้จัดทำยุทธศาสตร์เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมวัสดุอุปกรณ์ในประเทศไทย และเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 58 โดยมีเป้าหมายให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตอุตสาหกรรมทางการแพทย์และสุขภาพที่สำคัญของอาเซียนภายใน 63 โดยมีแนวทางที่มุ่งยกระดับศักยภาพการแข่งขันของผู้ประกอบการอย่างครบวงจร ตั้งแต่การออกแบบผลิตภัณฑ์ที่มีนวัตกรรมสูงขึ้น การยกระดับผลิตภาพการผลิต และลดความสูญเสียที่เกิดขึ้นจากขบวนการผลิต การดำเนินการทดสอบทางคลีนิก เพื่อยืนยันประสิทธิผลและความปลอดภัยกับผู้ใช้งาน ตลอดจนสนับสนุนการผลิตที่ได้มาตรฐานของกลุ่มประเทศชั้นนำ เพื่อให้เป็นที่ยอมรับของตลาดสากล อีกทั้งยังได้จัดทำฐานข้อมูลเชิงลึก เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการให้สามารถเข้าถึงข้อมูลที่เป็นประโยชน์การดำเนินธุรกิจต่อไป