เครือซีพี เล็งขยายโอกาสส่งออก-ลงทุนไปกลุ่ม CLMV หลังแนวโน้ม GDP โตต่อเนื่อง

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday October 14, 2014 14:53 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายบุญเกียรติ ชีวะตระกูลกิจ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ด้านพัฒนากลยุทธ์และธุรกิจ กลุ่มธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ (การลงทุนของซีพีในพม่า) กล่าวในงานเสวนา "ยุทธศาสตร์รุก-รับ CLMV+ไทย ก่อนก้าวสู่ AEC"ว่า การเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน AEC จะทำให้โอกาสใหญ่ขึ้น ประชากรของประเทศไทยที่มีอยู่กว่า 60 ล้านคน จะเพิ่มขึ้นเป็น 600 ล้านคน ซึ่งจะเกื้อประโยชน์ต่อผู้ที่มีความสามารถ โดยประเทศ CLMV เมื่อเทียบกับประเทศอื่นจะมีความสามารถโดยเฉลี่ยต่ำกว่าประเทศอื่น ฉะนั้นควรจะเกิดความร่วมมือกันมากกว่าที่จะมีการแข่งขันกัน

ซึ่งมองว่า CLMV+T คือกลุ่มประเทศที่อยู่บนแผ่นดินใหญ่ มีการดำเนินชีวิตหรือมีวิถีชีวิตคล้ายคลึงกัน ซึ่งควรจะมาวางแผนเพื่อพัฒนาร่วมกัน ถ้าต่างคนต่างทำน่าจะเสียเปรียบ เช่น วางแผนยุทธศาตร์ด้านการท่องเที่ยว ด้านการเกษตร สามารถนำเอาสินค้าทางการเกษตรมาเพิ่มมูลค่าให้เกิดผลประโยชน์ที่ยุติธรรมกับทั้ง 5 ประเทศ

นอกจากนี้มองว่าประเทศไทยควรเป็นผู้นำชวนประเทศ CLMV เข้าร่วมวางยุทธศาสตร์ เนื่องจากมีการพัฒนาประเทศมาก่อน ขณะที่ CLMV+T น่าจะเป็นกลุ่มความร่วมมือเล็กภายใต้กลุ่มความร่วมมือใหญ่ ซึ่งการวางยุทธศาสตร์ไม่ควรจะไปขัดกับประเทศอาเซียน

นายวิทยา เกรียงไกรวิทย์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ธุรกิจอาหารสัตว์ เขตประเทศราชอาณาจักรกัมพูชา บริษัท ซี.พี.กัมพูชา จำกัด ในเครือเจริญโภคภัณฑ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาไทยมีได้ส่งออกสินค้าไปยังประเทศเหล่านี้อยู่แล้ว ซึ่งประเทศ CLMV มีการเติบโตทางเศรษฐกิจ หรือ GDP อยู่ที่ 6-7% มาอย่างต่อเนื่อง และคาดว่าในอนาคตก็จะมีแนวโน้มการเติบโตที่ดีอย่างมาก คาดหวังว่าการส่งออกสินค้าของไทยจะเข้าไปเจาะตลาดในประเทศเหล่านี้มากขึ้น อีกทั้งในเรื่องของแรงงานที่ยังมีค่าแรงที่ต่ำ เสถียรภาพทางการเมือง และทรัพยากรณ์ทางธรรมชาติที่ยังมีอยู่ ฉะนั้นไทยควรจะมามองในประเทศดังกล่าวมากขึ้น

ทั้งนี้เห็นด้วยกับการที่ควรจะมียุทธศาสตร์ร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็น การท่องเที่ยว ซึ่งสามารถพัฒนาการท่องเที่ยวร่วมกันได้ ส่งผลให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยในหมวดท่องเที่ยวเกิดขึ้น

พร้อมกันนี้ มองว่าผู้ประกอบการน่าจะหาโอกาสเข้าไปศึกษาในประเทศเหล่านี้เพื่อขยายฐานการลงทุน โดยในปี 58 บริษัทฯก็จะมีการลงทุนราว 1,000 ล้านบาท ในเรื่องของอาหารสัตว์ และหลังจากมีการเปิดประเทศอาเซียนก็มีการมองในประเทศพม่า ซึ่งจะเข้าไปก่อตั้งออฟฟิศ ดำเนินการตามรูปแบบ Feed-Farm-Food เช่นเดียวกับในประเทศกัมพูชาและลาว ซึ่งตั้งเป้าหมายการเติบโตในประเทศ CLMV เป็นตัวเลข 2 หลัก และภายใน 5 ปีข้างหน้าจะเติบโตเป็น 2 เท่าของยอดขายปัจจุบันที่อยู่ราว 10,000 ล้านบาท

ด้านนายสมภพ มานะรังสรรค์ อธิการบดีสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์(PIM) กล่าวว่า กลุ่มประเทศอาเซียนควรแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่ม AEC ที่อยู่ในทะเล ประกอบด้วย ฟิลิปปินส์, อินโดนีเซีย, มาเลเซีย, สิงค์โปร์, บรูไน ซึ่งกลุ่มนี้ไม่น่าจะเป็นยุทธศาสตร์หลักของไทย เนื่องด้วยระดับการพัฒนายังใกล้เคียงกัน ซึ่งควรจะเป็นคู่แข่งกันมากกว่าพาร์ทเนอร์ ขณะที่มองว่ากลุ่ม CLMV กัมพูชา, ลาว, พม่า, เวียดนาม น่าจะเป็นเศรษฐกิจที่เกื้อกูลกัน เนื่องจากมีวัฒนธรรมคล้ายคลึงกัน โดยเฉพาะการนับถือศาสนาพุทธ ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยกลายเป็นแหล่งการเชื่อมโยงสู่ประเทศเพื่อนบ้าน

ทั้งนี้ยุทธศาสตร์ที่จะทำให้เกิดเศรษฐกิจที่เกื้อกูลกันนั้น มองว่าต้องหาจุดศูนย์กลาง โดยตีโจทย์การเปิดประเทศของ CLMV โดยต่อจากนี้ประเทศเหล่านี้จะเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก เช่น จะมีการเปลี่ยนแปลงในเรื่องของพาหนะการเดินทาง, การปฎิวัติร้านโชห่วย, การปฎิวัติเครื่องใช้ไฟฟ้า ซึ่งจะนำมาสู่การเกิดโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก และการผลิตสินค้าป้อนเข้าสู่ประเทศเหล่านี้จำนวนมาก, การปฎิวัติการอุปโภคและบริโภค, การปฎิวัติทางการเกษตร ที่จะมีการขยายพื้นที่ทางการเกษตรอย่างมาก, เริ่มมีอุตสาหกรรมทดแทนเกิ ดขึ้น, การขยายตัวของภาคก่อสร้าง, การเข้าความเป็นสังคมเมือง และเศรษฐกิจการค้าชายแดนเฟื่องฟู

สำหรับโจทย์ที่ต้องนำไปคิดต่อ คือ ทำอย่างไรให้ไทยมีฐานการผลิต การวิจัยและพัฒนา(R&D)ที่เพิ่มสูงขึ้น และทำอย่างไรเพื่อให้ไทยมุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางของประเทศ CLMV รวมถึงทำอย่างไรให้ภาคบริการเติบโตได้ 60% ของ GDP ประกอบกับ ด้านการบริโภคเพิ่มเป็น 55% ของ GDP


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ