โดยจะเป็นการปล่อยเงินกู้ให้เกษตรกร 80% ของมูลค่าข้าวเปลือกเพื่อนำไปใช้ซื้อข้าวมาเก็บไว้ในยุ้งฉางของตนเอง ในช่วงที่ผลผลิตข้าวเปลือกออกมามาก เพื่อรอการขายในช่วงเวลาที่เหมาะสม ก็เป็นอีกวิธีการหนึ่งที่จะนำมาใช้ ส่วนการดูแลราคาข้าวเปลือกเจ้าที่ต้องการเห็นเกษตรกรขายได้ไม่ต่ำกว่าตันละ 8,500 บาทนั้นจะกำหนดราคากลางในการขายข้าวแบบที่สร้างความยุติธรรมแก่ทุกฝ่าย ทั้งเกษตรกร โรงสี และผู้ส่งออก ซึ่งไม่ใช่ราคาบังคับที่ภาคเอกชนจำเป็นต้องซื้อจากเกษตรกร แต่เป็นราคาแนะนำที่ภาคเอกชนพร้อมให้ความร่วมมือกับภาครัฐตัดส่วนแบ่งกำไรของตนเอง เพื่อให้เกษตรกรขายข้าวได้ในราคาสูงขึ้น
นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์จะสนับสนุนผู้ประกอบการในการรุกตลาดส่งออกข้าว โดยจะบุกเจาะเป็นรายตลาด พร้อมทั้งสนับสนุนการทำแบรนด์ข้าวหอมมะลิไทย สร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้า เพื่อทวงคืนส่วนแบ่งตลาดในตลาดสำคัญๆ ที่ไทยสูญเสียไปในช่วงที่ผ่านมา เช่น ฮ่องกง จีน และทำให้ไทยกลับมาเป็นแชมป์ส่งออกข้าวได้เหมือนเดิม ส่วนการระบายข้าวสารในสต๊อกรัฐบาล คาดว่า จะเปิดประมูลรอบที่ 3 ราวสัปดาห์หน้า ส่วนปริมาณที่จะเปิดประมูลต้องขอพิจารณาอีกครั้งตามความเหมาะสม
ด้านนายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า ปีนี้ไทยมีโอกาสจะส่งออกข้าวได้มากถึง 11 ล้านตัน เพราะการส่งออกในช่วง 9 เดือน(ม.ค.-ก.ย.) สามารถส่งออกได้แล้ว 8 ล้านกว่าตัน เชื่อว่าอีก 3 เดือนที่เหลือ หากส่งออกได้เดือนละ 1 ล้านตัน ตัวเลขส่งออกเพิ่มขึ้นเป็น 11 ล้านตันแน่นอน