“การให้สินเชื่อดอกเบี้ยที่ถูกกว่าก็เหมือนกับการให้ยาแก้ปวดเป็นครั้งคราว ซึ่งคงกินยาแก้ปวดตลอดชีวิตไม่ได้ ทำให้ต้องมาคิดว่าการแก้ไขปัญหาอย่างแท้จริง ควรจะกลับไปที่สาเหตุ คือการแก้ไขปัญหาจากการสร้างรายได้จึงจะมีความเหมาะสมมากกว่า"นายประสาร กล่าว
การที่รัฐบาลได้ดำเนินโครงการช่วยเหลือชาวนาที่มีรายได้ลดลงผ่านการจ่ายเงินช่วยค่าต้นทุนการผลิต 1,000 บาทต่อไร่ รายละไม่เกิน 15 ไร่ รวมวงเงินกว่า 40,000 ล้านบาทนั้น นายประสาร กล่าวว่า คงไม่เป็นประโยชน์ที่จะมาเถียงกันว่าเป็นประชานิยมหรือไม่ เพราะรัฐบาลจำเป็นต้องเร่งแก้ปัญหาในระยะสั้นไปก่อน และการจ่ายเงินช่วยเหลือชาวนาเป็นการจ่ายเงินโดยตรงที่มีกำหนดระยะเวลา ไม่ใช่โครงการผูกพันระยะยาว อีกทั้งไม่ได้ทำให้เกิดการบิดเบือนกลไกตลาด
มาตรการดังกล่าวเป็นเพียงมาตรการระยะสั้นในช่วง 1-2 เดือน ที่มีผลเพียงเล็กน้อย ซึ่งในระยะยาวจะต้องเร่งสร้างการศึกษา ให้ความรู้ ฝึกฝนทักษะอาชีพเพื่อเพิ่มช่องทางการหารายได้ ส่วนการปรับโครงสร้างภาคการเกษตรด้วยการแบ่งโซนเพาะปลูก ก็เป็นข้อเสนอที่ต้องพิจารณา แต่ท้ายที่สุดราคาผลิตผลการเกษตรจะต้องไม่บิดเบือน เพราะจะเป็นการสร้างภาพลวงตา ทำให้เกษตรกรเข้ามาปลูกกันมาก ส่งผลให้ราคาสินค้าตกต่ำ และเกิดการเคลื่อนย้ายแรงงานไปสู่ภาคเกษตรกว่า 7 แสนคนในช่วงที่ผ่านมา
นายประสาร กล่าวว่า สำหรับปัญหาหนี้สินภาคครัวเรือน ซึ่งขณะนี้อยู่ในระดับสูงถึง 83% ของผลผลิตมวลรวมในประเทศ(จีดีพี)นั้น ธปท.อยู่ระหว่างติดตามปัญหาอย่างใกล้ชิด โดยหนี้ครัวเรือนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างมากเมื่อ 2 ปีก่อน แต่เริ่มชะลอตัวลงบ้างในช่วงกลางปี 56 โดยกลุ่มที่มีปัญหาส่วนใหญ่จะเป็นผู้ที่มีรายได้น้อย ส่วนผู้ที่มีรายได้ปานกลางและรายได้มากไม่มีผลกระทบ
"การแก้ไขปัญหาหนี้สินภาคครัวเรือน นั้นไม่ใช่เรื่องที่ทำได้ง่าย และต้องใช้เวลา ไม่สามารถแก้ได้ทั้งหมดภายใน 1-2 ปี"นายประสาร กล่าว