ทั้งนี้ การปรับโครงสร้างราคาพลังงานเพื่อสะท้อนต้นทุนที่แท้จริงควรเร่งดำเนินการในช่วงเดือน ต.ค.-พ.ย.นี้ เนื่องจากเป็นช่วงราคาน้ำมันขาลง โดยเฉพาะการปรับราคาน้ำมันดีเซลที่สามารถเพิ่มอัตราเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงได้อีก และหากไม่ต้องการให้กระทบต่อราคาขายปลีกหน้าสถานีบริการ
โดยส่วนตัวมองว่าควรมีการปรับเปลี่ยนกลไกระหว่างกองทุนน้ำมันฯ กับภาษีสรรพสามิต คือ เพิ่มภาษีสรรพสามิตเป็น 3 บาท/ลิตร จากปัจจุบัน 0.75 บาท/ลิตร และลดเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯ ลงเหลือ 0.75 บาท/ลิตร จากนั้นหากราคาน้ำมันในตลาดโลกลดลงก็สามารถเรียกเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯ อีก 0.50 บาท/ลิตร เป็น 1.25 บาท/ลิตร ทำให้มีเสถียรภาพทั้งกองทุนและภาษี รวมทั้งไม่กระทบต่อราคาขายปลีกด้วย
สำหรับแนวทางการปรับขึ้นราคาแอลพีจีที่มีข่าวว่ากระทรวงพลังงานจะปรับขึ้นเป็น 27 บาท/กก. เป็นราคาที่สะท้อนต้นุทนแต่อาจยังไม่บวกราคานำเข้าไปด้วย เพราะหากบวกราคานำเข้าแอลพีจีจะทำให้ต้นุทนขึ้นไปอยู่ที่ 29 บาท/กก.
ขณะที่นายคุรุจิต นาครทรรพ รองปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ราคาพลังงานจำเป้นต้องสะท้อนต้นทุนทั้งหมด โดยในส่วนของก๊าซแอลพีจี ต้นทุนควรอยู่ที่ 550 ดอลลาร์สหรัฐ/ตัน หรือคิดเป็นประมาณ 24.82 บาท/กก. จากปัจจุบันราคาแอลพีจีขนส่งอยู่ที่ 22 บาท/กก. และครัวเรือนอยู่ที่ 22.63 บาท/กก.
โดยปัจจุบันประเทศไทยมีความต้องการใช้แอลพีจี 7.5 ล้านตัน/ปี ซึ่งต้องนำเข้า 25% ของความต้องการใช้ทั้งหมด เมื่อราคาขายในประเทศยังต่ำกว่าต้นทุน ก็ทำให้ความต้องการใช้เติบโตจนส่งผลให้ปริมาณนำเข้าสูงขึ้นด้วย จนส่งผลกระทบต่อกองทุนน้ำมันฯ