อนึ่ง ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2557 เห็นชอบมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะ 3 เดือนแรก ในส่วนมาตรการเพิ่มรายได้ให้แก่ผู้มีรายได้น้อยทุกครัวเรือนจำนวนทั้งสิ้น 3.49 ล้านครัวเรือน พื้นที่ปลูกข้าวนาปีจำนวน 63.8 ล้านไร่ คิดเป็นวงเงิน 40,000 ล้านบาท โดยการให้เงินช่วยเหลือไร่ละ 1,000 บาท แก่ชาวนาที่จดทะเบียนไว้กับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และเปิดบัญชีไว้กับ ธ.ก.ส. ซึ่งมีที่ดินทำกินไม่เกิน 15 ไร่ และชาวนาที่มีที่ดินทำกินเกิน 15 ไร่ให้ช่วยเหลือครอบครัวละ 15,000 บาท
สำหรับเกษตรกร 3.49 ล้านราย แบ่งเป็นชาวนาผู้ปลูกข้าวที่มีที่นามากกว่า 15 ไร่ คิดเป็น 55% และชาวนาที่มีที่นาน้อยกว่า 15 ไร่ ประมาณ 45%
ในวันแรก ธ.ก.ส.ได้ดำเนินการจ่ายเงินให้แก่เกษตรกรทั้งสิ้น 14,311 ราย วงเงิน 176.1 ล้านบาท จังหวัดลพบุรีจำนวน 684 ราย วงเงิน 9.2 ล้านบาท, จังหวัดขอนแก่น จำนวน 2,407 ราย วงเงิน 26.9 ล้านบาท, จังหวัดศรีสะเกษ จำนวน 5,223 ราย วงเงิน 60.6 ล้านบาท, จังหวัดมหาสารคาม จำนวน 1,476 ราย วงเงิน 16.5 ล้านบาท, จังหวัดสุรินทร์จำนวน 195 ราย วงเงิน 2.3 ล้านบาท, จังหวัดพิจิตร จำนวน 961 ราย วงเงิน 13.5 ล้านบาท, จังหวัดกำแพงเพชร จำนวน 2,990 ราย วงเงิน 42 ล้านบาท และจังหวัดพิษณุโลก จำนวน 375 ราย วงเงิน 5.1 ล้านบาท ส่วนจังหวัดอื่นๆ ธ.ก.ส. และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะประสานงานเพื่อส่งข้อมูลให้กับ ธ.ก.ส.ดำเนินการจ่ายเงินให้กับเกษตรกรผู้ปลูกข้าวที่ขึ้นทะเบียนไว้โดยเร็วที่สุด
นายลักษณ์ กล่าวว่า สำหรับเกษตรกรที่ยังไม่ขึ้นทะเบียนกับทางเกษตรอำเภอนั้น ธ.ก.ส. ขอให้เร่งดำเนินการขึ้นทะเบียนโดยเร็ว ซึ่งเกษตรกรต้องไปขึ้นทะเบียนผู้ปลูกข้าวกับเกษตรอำเภอในพื้นที่เพื่อตรวจสอบความถูกต้องและรับรองสิทธิ์ โดยคณะกรรมการบริหารมาตรการเพิ่มรายได้ให้แก่ผู้มีรายได้น้อยระดับอำเภอ จากนั้นให้ชาวนานำสำเนาหน้าสมุดบัญชีเงินฝากและสำเนาบัตรประชาชน มาจัดทำหนังสือแสดงความจำนงขอเข้าร่วมโครงการที่ ธ.ก.ส. สาขาในพื้นที่ หลังจากนั้น ธ.ก.ส.จะตรวจสอบความถูกต้องและส่งข้อมูลเข้าสู่ระบบเพื่อโอนเงินเข้าบัญชีของเกษตรกรโดยตรงต่อไป ทั้งนี้หากเกษตรกรดำเนินการถูกต้อง ครบถ้วนตามขั้นตอนดังกล่าวก็จะได้รับเงินภายใน 3 วัน นับตั้งแต่ยื่นเอกสารที่ ธ.ก.ส. สาขาในพื้นที่ใกล้บ้าน
"เพื่อให้เกษตรกรรายย่อยผู้ปลูกข้าวบรรเทาความเดือดร้อนจากปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำ ธ.ก.ส.จะเร่งดำเนินการเพื่อให้เกษตรกรทุกรายที่มีสิทธิ์รับเงินช่วยเหลือในครั้งนี้ได้รับเงินทุกรายโดยไม่ให้ตกหล่น จึงอยากให้พี่น้องเกษตรกรผู้ปลูกข้าวเร่งดำเนินการขึ้นทะเบียนตามขั้นตอนโดยเร็วเพื่อให้เงินถึงมือโดยเร็ว ซึ่งจะเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนในระยะสั้น และทาง ธ.ก.ส.จะหาแนวทางเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรในระยะยาวสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืนต่อไป" นายลักษณ์ กล่าว
จากข้อมูลล่าสุด พบว่า ขณะนี้มีเกษตรกรมาขึ้นทะเบียนแล้ว ประมาณ 2.8 ล้านราย ส่วนอีกประมาณ 6 แสนรายขอให้รีบมาขึ้นทะเบียนภายใน 15 พ.ย.นี้ ยกเว้นภาคใต้ซึ่งขึ้นอยู่กับฤดูกาล โดยคาดว่าจะสามารถจ่ายเงินให้เกษตรกรได้เฉลี่ยวันละ 3 พันล้านบาท และคาดว่าในเดือน ต.ค.นี้จะจ่ายเงินได้ประมาณ 1 หมื่นล้านบาท และเดือน พ.ย.จะจ่ายได้ประมาณ 3 หมื่นล้านบาท
"ชาวนาที่เช่าที่นาก็สามารถได้รับสิทธิ์ในการรับเงินช่วยเหลือคร้งนี้ด้วย แต่ขอให้มีหลักฐานการขึ้นทะเบียนเป็นชาวนาผู้ปลูกข้าวภายใน 15 พ.ย.นี้ และมีเอกสารหลักฐานการเช่าที่นาอย่างถูกต้อง"นายลักษณ์ กล่าว
ด้านตัวเทนเกษตรกรรายหนึ่ง กล่าวว่า สำหรับเงินที่ได้รับจะนำไปจ่ายค่าปุ๋ย ค่าจ้างพ่นยา รวมแล้วเกือบ 1 หมื่นบาทต่อเดือน แต่ตนมีบัตรเครดิตเกษตรกร ซึ่งจะนำเงินนี้ไปจ่ายคืนหนี้
"ขอบคุณรัฐบาลและ ธ.ก.ส.ที่ช่วยเหลือชาวนา ถึงเงินที่ได้วันนี้จะนำไปใช้ประโยชน์จ่ายค่าปัจจัยการผลิต แต่อยากให้รัฐบาลช่วยเรื่องทำให้ราคาดีขึ้น เพราะเมื่อหักค่าใช้จ่ายแล้วแทบไม่เหลือ ถ้ารัฐช่วยทำให้ราคาข้าวดีขึ้น อาจจะทำชาวนามีความเป็นอยู่ดีขึ้นกว่านี้ นอกจากนี้ช่วยลดค่าปุ๋ยตนใช้ปุ๋ยกระสอบละ 600 บาท ตนมีนา 40 ไร่ ใช้ปุ๋ย 30 กระสอบ รวมแล้วก็ตกประมาณเกือบ 2 หมื่นบาทต่อเดือน ยังไม่รวมค่าจ้างพ่นยา แต่เวลาซื้อปุ๋ย ยาก็จะรูดบัตรเรดิตเกษตรกร ซึ่งตอนนี้เป็นหนี้อยู่ประมาณ 4 หมื่นบาทก็จะนำไปจ่ายคืนหนี้ที่เกิดขึ้น" เกษตรกร กล่าวกับ"อินโฟเควสท์"