ผลผลิตรวมทั้งประเทศ 8.411 ล้านตันข้าวเปลือก ลดลงจากปีที่แล้ว 1.675 ล้านตันข้าวเปลือก หรือร้อยละ 16.61 ส่วนผลผลิตต่อเนื้อที่เพาะปลูก ทั้งประเทศอยู่ที่ 669 กิโลกรัมต่อไร่ เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 23 กิโลกรัม หรือร้อยละ 3.56 ด้านผลผลิตต่อเนื้อที่เก็บเกี่ยว ทั้งประเทศอยู่ที่ 676 กิโลกรัมต่อไร่ เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 6 กิโลกรัม หรือร้อยละ 0.90
ด้านสถานการณ์การผลิต พบว่า เนื้อที่เพาะปลูกคาดว่าลดลงทุกภาคจากปีที่แล้ว เนื่องจากภาพรวมปริมาณน้ำในเขื่อนขนาดกลางและขนาดใหญ่ที่ใช้การได้มีน้อยกว่าในปี 2556 โดยเฉพาะภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกและภาคตะวันตก ซึ่งปริมาณน้ำที่ใช้การได้ ณ เดือนสิงหาคม 2557 มีเพียงร้อยละ 30
ประกอบกับราคาข้าวมีแนวโน้มลดลง ทำให้เกษตรกรลดเนื้อที่เพาะปลูกลง เนื่องจากเห็นว่าผลตอบแทนไม่คุ้มค่าความเสี่ยง หากปริมาณน้ำไม่เพียงพอ สำหรับผลผลิตต่อไร่คาดว่าเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว เนื่องจากปีที่แล้วประสบกับสภาพอากาศหนาวเย็นยาวนาน กระทบต้นข้าวในช่วงตั้งท้องถึงออกรวง ส่งผลให้ต้นข้าวชะงักการเจริญเติบโต เมล็ดลีบ รวมทั้งเกษตรกรขยายเนื้อที่เพาะปลูกเกินกว่าแผนการจัดสรรน้ำ ต้นข้าวจึงได้รับ น้ำไม่เพียงพอต่อการเจริญเติบโต
อย่างไรก็ตาม ปี 2558 คาดว่าเกษตรกรจะไม่ปลูกเกินกว่าแผนที่กำหนด โดยกระทรวงเกษตรฯ ได้จัดหาให้เพาะปลูกพืชฤดูแล้งเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์และกำหนดหลักเกณฑ์ต่างๆ ไว้เรียบร้อยแล้ว ซึ่งจะทำให้ได้รับน้ำเพียงพอต่อการเจริญเติบโต โดยหากพิจารณาในแต่ละภาค พบว่า ภาคเหนือ เนื้อที่เพาะปลูกคาดว่าลดลง เนื่องจากมีน้ำไม่เพียงพอต่อการเพาะปลูก และราคาข้าวเปลือกไม่จูงใจให้เกษตรกรขยายเนื้อที่เพาะปลูก โดยเกษตรกรจะปลูกมากในเดือนธันวาคม 2557 ถึงมกราคม 2558 สำหรับผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้น ไม่ประสบสภาพอากาศหนาวเย็นยาวนานเหมือนปีที่ผ่านมา
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เนื้อที่เพาะปลูกคาดว่าลดลง เนื่องจากเกษตรกรต้องงดปลูกข้าวนาปรังจากปริมาณน้ำไม่เพียงพอ โดยเกษตรกรจะปลูกมากในเดือนมกราคม 2558 ส่วนผลผลิตต่อไร่คาดว่าเพิ่มขึ้น เพราะแหล่งปลูกส่วนใหญ่ได้รับน้ำเพียงพอต่อการเจริญเติบโต
ภาคกลาง เนื้อที่เพาะปลูกคาดว่าลดลง เนื่องจากปริมาณน้ำที่ใช้การได้ในเขื่อนขนาดใหญ่ ได้แก่ เขื่อนภูมิพล และเขื่อนสิริกิตติ์มีปริมาณน้ำใช้การได้ลดลงจากปีที่แล้ว ส่งผลต่อปริมาณน้ำที่จัดสรรให้เกษตรกรใช้ในการเพาะปลูกข้าวนาปรังในแถบลุ่มน้ำเจ้าพระยาลดลง สำหรับผลผลิตต่อไร่คาดว่าเพิ่มขึ้น เนื่องจากเกษตรกรให้การดูแลและไม่ปลูกเกินแผนการจัดสรรน้ำ ทำให้ปริมาณน้ำเพียงพอต่อการเพาะปลูก
ภาคใต้ เนื้อที่เพาะปลูกคาดว่าลดลง เนื่องจากแนวโน้มราคาข้าวเปลือกลดลง เกษตรกรบางส่วนจึงปรับเปลี่ยนไปปลูกยางพารา และปาล์มน้ำมัน ที่ให้ผลตอบแทนดีกว่า สามารถให้ผลผลิตได้หลายปี และเกษตรกรจะปลูกมากในเดือนพฤษภาคม 2558 สำหรับผลผลิตต่อไร่คาดว่าเพิ่มขึ้น จากปริมาณน้ำที่เพียงพอ