สำหรับธุรกิจที่ได้รับอนุญาต ได้แก่ ธุรกิจบริการให้แก่บริษัทในเครือ/ในกลุ่มและบริษัทคู่ค้า 25 ราย มีเงินลงทุน 1,672 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นบริการให้กู้ยืมเงินบริการด้านการตลาด บริการจัดหาและติดตั้งเครื่องจักร และบริการรับจ้างผลิตเป็นต้น ประเทศที่ได้รับอนุญาตได้แก่ ญี่ปุ่น ฮ่องกง สิงคโปร์ สวิตเซอร์แลนด์ เนเธอร์แลนด์ จีน ไอร์แลนด์ ไต้หวัน สวีเดน และเยอรมนี
นอกจากนี้ยังมีธุรกิจค้าปลีก/ค้าส่ง 7 ราย มีเงินลงทุน 44 ล้านบาท เช่น การค้าปลีกแม่พิมพ์ที่ใช้ในการผลิตชิ้นส่วนเหล็กหล่อของยานพาหนะและเครื่องจักรกลอื่นๆ ให้แก่ลูกค้าที่ว่าจ้างให้ผลิตชิ้นส่วนเหล็กหล่อที่ผลิตจากแม่พิมพ์ การค้าส่งตู้บรรจุสินค้า เกียร์พิเศษ และเครนติดหลังรถบรรทุก เป็นต้น ประเทศที่ได้รับอนุญาตคือ ญี่ปุ่น สิงคโปร์และฝรั่งเศส, ธุรกิจสำนักงานผู้แทน 6 ราย มีเงินลงทุน 18 ล้านบาท ส่วนใหญ่จะเป็นการรายงานความเคลื่อนไหวทางธุรกิจเกี่ยวกับสภาวะเศรษฐกิจ การผลิต การตลาด การลงทุน ตลอดจนความต้องการใช้สินค้าและบริการต่างๆ รวมทั้งหาแหล่งจัดซื้อสินค้าและวัตถุดิบ ตรวจสอบและควบคุมคุณภาพและปริมาณของสินค้าในประเทศไทยให้สำนักงานใหญ่ ประเทศที่ได้รับอนุญาต ได้แก่ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ และสวิตเซอร์แลนด์
รวมถึงธุรกิจนายหน้าตัวแทน 2 ราย มีเงินลงทุน 56 ล้านบาท เช่น การทำกิจการเป็นตัวแทนในการจัดจำหน่ายจัดหาตลาด เพื่อการจำหน่ายชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ให้แก่บริษัทในเครือ/ในกลุ่ม เป็นต้น ประเทศที่ได้รับอนุญาตคือ ญี่ปุ่น, คู่สัญญาภาครัฐ/รัฐวิสาหกิจ 1 ราย มีเงินลงทุน 275 ล้านบาท ได้แก่ บริการขุดเจาะปิโตรเลียมให้แก่ บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ประเทศที่ได้รับอนุญาต ได้แก่ สิงคโปร์
ส่วนเดือน ต.ค.57 จำนวนธุรกิจที่ได้รับอนุญาตลดลงจากเดือนก่อน 21% และเงินลงทุนลดลง 41,793 ล้านบาท เพราะในเดือน ก.ย.57 มีผู้ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์และธุรกิจบริการทางการเงินอื่น ซึ่งเป็นธุรกิจที่ต้องใช้เงินลงทุนสูง
ขณะที่ ในช่วง 10 เดือน (ม.ค.-ต.ค.) ปีนี้ คณะกรรมการฯ ได้อนุญาตให้คนต่างด้าวประกอบธุรกิจในประเทศไทยแล้ว 354 ราย มีเงินลงทุนทั้งสิ้น 60,142 ล้านบาท และเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน พบว่า จำนวนธุรกิจที่ได้รับอนุญาตเพิ่มขึ้น 7% และเงินลงทุนเพิ่มขึ้น 44,543 ล้านบาท