สมาคมพัฒนาทวาย เรียกร้องกสม.แก้ปัญหาการละเมิดสิทธิฯในโครงการทวาย

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday October 22, 2014 10:16 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สมาคมพัฒนาทวาย เปิดตัวรายงานฉบับใหม่ “เสียงจากชุมชน: ข้อกังวลต่อโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายและโครงการที่เกี่ยวข้อง" โดยรายงานฉบับนี้เรียกร้องให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ทั้งของไทยและเมียนมาร์ ร่วมมือและสอบสวนอย่างเต็มที่ต่อข้อร้องเรียนว่ามีการปฏิบัติมิชอบด้านสิทธิมนุษยชน ทั้งการเวนคืนและการบังคับไล่รื้อเพื่อยึดที่ดิน โดยเป็นผลมาจากกิจกรรมและการดำเนินงานของโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย และเจ้าของโครงการเป็นบริษัทซึ่งตั้งอยู่ในประเทศไทยหรือเมียนมาร์

ทั้งนี้ ตัวแทนชาวพม่าที่ได้รับผลกระทบจากโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย ได้เดินทางมายื่นรายงานฉบับใหม่ของสมาคมพัฒนาทวาย ต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(กสม.) วานนี้

เป็นที่คาดการณ์ว่าชาวบ้านใน 20-36 หมู่บ้าน จะได้รับผลกระทบโดยตรงจากโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายและโครงการที่เกี่ยวข้อง จากผลการศึกษาในเชิงปริมาณและคุณภาพใน 20 หมู่บ้านที่จะได้รับผลกระทบโดยตรงจากโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย คาดว่าจะทำให้ชุมชนสูญเสียที่ดินทำกินและทรัพยากรธรรมชาติที่จำเป็นต่อการดำรงชีพ โดยไม่ได้รับแจ้งข้อมูลล่วงหน้า ที่ผ่านมาไม่มีการปรึกษาหารืออย่างจริงจัง และกระบวนการจ่ายค่าชดเชยเต็มไปด้วยข้อผิดพลาดร้ายแรงและทั้งนี้รายงานยังมีข้อเสนอแนะต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลัก รวมทั้งรัฐบาลไทยและพม่า และนักลงทุนจากไทย ญี่ปุ่น และที่อื่น ๆ ซึ่งอาจสนใจลงทุนในโครงการนี้

“พวกเราต้องการข้อมูล เราต้องการทราบอย่างชัดเจนว่าใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ จะมีหนทางเยียวยาปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างไร และใครจะรับผิดชอบป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบด้านลบเพิ่มเติม” ดอว์ซูซูเซว (Daw Su Su Swe) จากสหภาพสตรีทวาย (Tavoyan Women’s Union) กล่าว

“เรารู้ว่ามาตรฐานการครองชีพของเรา ต้องไม่ได้รับผลกระทบจากโครงการนี้ ผมได้รับเงินแค่ห้าแสนจ๊าตต่อที่ดิน 2.5 ไร่ ส่วนคนอื่นได้สามล้านจ๊าตต่อที่ดิน 2.5 ไร่ แต่ถึงจะได้เงินสามล้านจ๊าตต่อ 2.5 ไร่ก็ไม่พอที่จะนำไปซื้อที่ดินใหม่ในราคาปัจจุบัน” อูอ่องมิน (U Aung Myint) จากหมู่บ้านมูดูในพื้นที่โครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายกล่าว

นอกจากนั้น รายงานยังแสดงให้เห็นว่าผู้พัฒนาโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายไม่ได้ปฏิบัติตามพันธกรณีและมาตรฐานทางกฎหมายในระดับสากล ภูมิภาค และในประเทศ และไม่ใส่ใจความรับผิดชอบอื่น ๆ ที่เป็นผลมาจากการบังคับไล่รื้อ สิทธิที่จะมีอาหารและที่อยู่อาศัยอย่างเพียงพอ และสิทธิของชนพื้นเมือง ช่องว่างเหล่านี้ต้องได้รับการแก้ไขโดยด่วนจากผู้ร่วมทุนในโครงการ

“เป็นความรับผิดชอบหลักของรัฐที่จะต้องคุ้มครองพลเมืองของตนเอง หากโครงการนี้ส่งผลให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนและการทำลายสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตของประชาชน และยังจะมีการรื้อฟื้นโครงการนี้ขึ้นมาใหม่ รัฐบาลทั้งสองประเทศย่อมมีภาพที่มัวหมองในประวัติศาสตร์” อูทันซิน (U Thant Zin) ผู้ประสานงานสมาคมพัฒนาทวายกล่าว

อนึ่ง โครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายตั้งอยู่บริเวณชายฝั่งซึ่งเป็นพื้นที่เกษตรกรรมทางภาคใต้ของเมียนมาร์ เริ่มดำเนินการครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2551 ประกอบด้วยการสร้างท่าเรือน้ำลึก นิคมอุตสาหกรรม อ่างเก็บน้ำ และถนนเชื่อมระหว่างทั้งสองประเทศ หากสร้างเสร็จจะกลายเป็นนิคมอุตสาหกรรมใหญ่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ (ITD) รับผิดชอบการดำเนินงานของโครงการนี้ระหว่างปี พ.ศ. 2551-2556 แต่โครงการได้ชะงักไปหลังจากพฤศจิกายน 2556 เนื่องจากขาดเงินทุน และมีการมอบความรับผิดชอบหลักของโครงการให้กับนิติบุคคลเฉพาะกิจ (Special Purpose Vehicle - SPV) ซึ่งทั้งรัฐบาลไทยและพม่าต่างเป็นเจ้าของนิติบุคคลเฉพาะกิจดังกล่าวในสัดส่วนเท่ากัน หลังจากการเดินทางมาเยือนพม่าของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของไทย รัฐบาลทั้งสองต่างแถลงว่ามีผู้ลงทุนรายใหม่แสดงความประสงค์ที่จะประมูลโครงการ แต่แทบไม่มีการเปิดเผยข้อมูลให้กับสาธารณะแต่อย่างใด


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ