โดยปัจจุบันห้างหุ้นส่วนสามัญ จะมีอัตราการเสียภาษีเงินได้เช่นเดียวกับบุคคลธรรมดา และมีการหักค่าใช้จ่ายแบบเหมารวมได้ในอัตรา 10-90% แล้วแต่ประเภทของกิจการ แต่ทั้งนี้ห้างหุ้นส่วนสามัญถือเป็นกิจการที่มุ่งหากำไร จึงเห็นว่าไม่เหมาะสมหากจะใช้สิทธิในการหักค่าใช้จ่ายแบบเหมารวมเช่นเดียวกับบุคคลธรรมดา ดังนั้นในกฎหมายที่ได้มีการปรับปรุงแก้ไขใหม่จึงได้กำหนดให้ห้างหุ้นส่วนสามัญต้องคำนวณเงินได้สุทธิด้วยวิธีการหักค่าใช้จ่ายตามจริง โดยไม่ให้สิทธิเลือกหักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมา
"เราแก้กฎหมายใหม่คือ ขอให้เขาหักค่าใช้จ่ายตามความจริง โดยแสดงรายได้จริง หักค่าใช้จ่ายจริง เพื่อต้องการให้ห้างหุ้นส่วนสามัญเข้ามาสู่ระบบการเสียภาษีที่ถูกต้อง จะมาหักค่าใช้จ่ายแบบเหมาอย่างเดิม โดยที่ไม่มีหลักฐานไม่ได้แล้ว" อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวในรายการโทรทัศน์เช้านี้
ส่วนกรณีของคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคลนั้น กำหนดให้บุคคลแต่ละคนในคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคลนำเงินได้พึงประเมินของคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคลนั้น ไปถือเป็นเงินได้พึงประเมินของแต่ละคนตามสัดส่วน และให้บุคคลแต่ละคนดังกล่าวนำเงินได้พึงประเมินไปรวมคำนวณกับเงินได้พึงประเมินอื่นของตน เพื่อเสียภาษีเงินได้ในนามของแต่ละคน ซึ่งจะเป็นการปิดช่องว่างจากการที่บุคคลแยกไปจัดตั้งคณะบุคคลหลายๆ คณะ เพื่อหวังจะลดจำนวนเงินได้พึงประเมินที่จะต้องนำไปหักภาษีให้เหลือน้อยลง
อย่างไรก็ดี หลังจากที่คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากรดังกล่าวแล้ว จะส่งร่างดังกล่าวให้กับคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจสอบในถ้อยคำของร่างกฎหมาย จากนั้นจะนำเสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) เพื่อพิจารณา โดยคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.58