พร้อมกันนี้ กพช. ได้พิจารณาอัตราเงินสนับสนุน VSPP ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอในจังหวัดสงขลา ได้แก่ อ.จะนะ อ.เทพา อ.สะบ้าย้อย และ อ.นาทวี โดยเพิ่มอีก จาก FiT ปกติ เป็นการสร้างแรงจูงใจในการลงทุนโครงการพลังงานหมุนเวียนเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงทางด้านพลังงานในพื้นที่ ทั้งนี้ เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบต่อการตัดสินใจการลงทุน จึงให้กระทรวงพลังงานทบทวนแนวทางการดำเนินการในช่วงเปลี่ยนผ่านจากระบบ Addder เป็น FiT แล้วสนอ กพช. พิจารณาในครั้งต่อไป
ระบบ FiT เป็นระบบที่กระทรวงพลังงานจะนำมาจูงใจภาคเอกชนให้เร่งตัดสินใจเข้ามามีส่วนร่วมในการผลิตไฟฟ้าเข้าสู่ระบบเพิ่มขึ้น แทนระบบ Adder ส่วน FiT จะทบทวนอัตราเป็นรายปีเพราะเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงเสมอ การทบทวนประจำปีจะทำให้อัตราเงินสนับสนุนสอดคล้องกับต้นทุน ซึ่งเมื่อเดือนสิงหาคม 2557 กพช. ได้เห็นชอบอัตรารับซื้อไฟฟ้า ในรูปแบบ FiT จากพลังงานแสงอาทิตย์ไปแล้ว 3 รูปแบบ คือ (1) แบบติดตั้งบนพื้นดิน ให้เปิดรับซื้อและจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบภายในธันวาคม 2558 (2) แบบติดตั้งบนหลังคา สำหรับโครงการที่ผูกพันกับภาครัฐแล้ว 130.64 MW ให้จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบภายในธันวาคม 2557 และเปิดรับซื้อเพิ่มสำหรับที่พักอาศัยขนาดไม่เกิน 10 กิโลวัตต์อีก 69.36 MW เพื่อให้ครบเป้าหมาย 200 MW โดยกำหนดจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบภายในธันวาคม 2558 และ (3) แบบติดตั้งในพื้นที่ชุมชน ให้เป็นโครงการสำหรับหน่วยงานราชการและสหกรณ์การเกษตร ขนาดไม่เกิน 5 MW ต่อแห่ง รวม 800 MW กำหนดจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบภายในสิ้นเดือนธันวาคม 2558 ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการสำรวจระบบสายส่งและจำหน่ายที่สามารถรองรับการรับซื้อไฟฟ้า ทั้งจาก กฟผ.และ กฟภ.ตามภูมิภาค ให้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น
ในการประชุมครั้งนี้ กพช. ได้รับทราบความคืบหน้าการดำเนินการปฏิรูปทิศทางพลังงานไทย ทั้งการจัดทำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย การจัดทำแผนอนุรักษ์พลังงาน และแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก รวมถึงการให้สิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบที่ 21 ซึ่งกระทรวงพลังงานได้จัดรับฟังความคิดเห็นทั้งภาคเหนือ ภาคใต้ ภาคอีสาน และ กทม. เสร็จเรียบร้อยแล้ว อยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องเพื่อนำมาปรับปรุงแผนงานต่างๆ รวมถึงจัดทำทุกแผนงานให้มีกรอบระยะเวลาของแผนระหว่างปี 2558 - 2579 คาดว่ากระทรวงพลังงานจะนำเสนอ กพช.พิจารณาได้ตามแผนคือเดือนธันวาคม 2557
นอกจากนั้น ที่ประชุมยังได้รับทราบความคืบหน้าการแก้ไขร่างกฎกระทรวงตามพ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ. 2535 และร่างกฎกระทรวงว่าด้วยการติดตั้งแผงเซลล์แสงอาทิตย์ ภายใต้พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ที่ส่งผลต่อโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคาที่ผูกพันกับภาครัฐแล้ว 130.64 MW ซึ่งจะจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบไม่ทันตามที่กำหนดไว้ภายในธันวาคม 2557 กพช. จึงเห็นชอบให้ขยายระยะเวลาไปถึงเดือนมิถุนายน 2558 และได้ทราบถึงข้อจำกัดในการตัดสินใจลงทุนโครงการผลิตไฟฟ้าแสงอาทิตย์สำหรับหน่วยงานราชการและสหกรณ์การเกษตร เนื่องจากมีประเด็นเรื่องความยั่งยืนของโครงการฯ กพช. จึงเห็นควรให้บริษัทจัดการพลังงาน (ESCO) เข้ามาช่วยให้คำแนะนำเพื่อพัฒนาโครงการฯ ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตามนับจากที่ คสช. ได้เข้ามาบริหารประเทศ กระทรวงพลังงานได้ส่งเสริมให้มีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนไปแล้วรวม 86 ระบบ ซึ่งได้อนุมัติโครงการชีวมวล-ขยะ และเป็นนโยบายที่กระทรวงพลังงานสนับสนุนให้มีการจัดการขยะ และการนำวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรมาใช้ประโยชน์ รวมกำลังการผลิตประมาณ 269 MW โดย 41 ระบบ ประมาณ 14 MW ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน และอีก 45 ระบบ ประมาณ 255 MW ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการบริหารมาตรการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน
ครั้งนี้ กพช. ได้รับทราบร่างกฎกระทรวงกำหนดเครื่องจักร อุปกรณ์ประสิทธิภาพสูง และวัสดุเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน เพิ่มเติมจำนวน 7 ผลิตภัณฑ์ ซึ่งมีศักยภาพประหยัดประมาณ 280 พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ (ktoe) ต่อปี หรือคิดเป็น 7,500 ล้านบาทต่อปี ได้แก่ รถจักรยานยนต์ เครื่องยนต์ดีเซลขนาดเล็ก เครื่องยนต์แก๊สโซลีนขนาดเล็ก ฉนวนใยแก้วเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน เครื่องซักผ้า เครื่องสูบน้ำในครัวเรือน และเครื่องอัดอากาศขนาดเล็กแบบลูกสูบ ซึ่งการประกาศสินค้าอุปกรณ์เพื่อการอนุรักษ์พลังงานเพิ่มเติมนี้จะมีส่วนช่วยยกระดับสินค้าด้านการประหยัดพลังงานให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งผู้ผลิตและผู้จำหน่ายมีสิทธิขอรับการส่งเสริมและช่วยเหลือเพื่อพัฒนาให้เกิดประโยชน์ในการอนุรักษ์พลังงานในภาพรวมของประเทศ