ธปท.หนุนใช้นาโนไฟแนนซ์แก้หนี้นอกระบบ เชื่อไม่กระทบ NPLs

ข่าวเศรษฐกิจ Friday October 24, 2014 16:53 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายจิรเทพ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา โฆษกธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึง แนวทางการจัดตั้งนาโนไฟแนนซ์ของกระทรวงการคลังว่า จะไม่ส่งผลกระทบต่อหนี้เสียที่มีอยู่ในระบบสถาบันการเงิน เนื่องจากนาโนไฟแนนซ์ไม่ใช่สถาบันการเงิน และหากผู้ประกอบการนาโนไฟแนนซ์ต้องการกู้เงินจากธนาคารพาณิชย์เพื่อนำไปปล่อยกู้ต่อก็จะมีการตรวจสอบหลักทรัพย์และความเสี่ยงจากการปล่อยกู้ตามแนวทางที่ธนาคารปล่อยสินเชื่อตามปกติ

ทั้งนี้ การจัดตั้งนาโนไฟแนนซ์เป็นการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบในระยะยาว เพื่อให้กระทรวงการคลังมีฐานข้อมูลที่ชัดเจนว่าจำนวนลูกหนี้มีเท่าใดและเป็นใครบ้างในแต่ละจังหวัด ขณะเดียวกันยังสามารถควบคุมอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่เอารัดเอาเปรียบผู้บริโภคมากเกินไป ซึ่งเบื้องต้นกระทรวงการคลังต้องไปกำหนดอัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสมว่าจะใช้อัตรา 36% หรือไม่ แต่ก็ถือว่าเป็นอัตราที่รับได้ เพราะเป็นการปล่อยกู้รายย่อยที่มีความเสี่ยงสูงกว่าสินเชื่อส่วนบุคคลปกติ และการจัดตั้งนาโนไฟแนนซ์ไม่ใช่อำนาจของ ธปท.ที่จะต้องเข้าไปกำกับดูแล

"นาโนไฟแนนซ์จะส่งผลให้ปัญหาหนี้ครัวเรือนจะปรับตัวเพิ่มขึ้นหรือไม่นั้น ต้องพิจารณาว่าการปล่อยกู้ที่เกิดขึ้นเป็นไปในลักษณะใด ซึ่งหนี้ครัวเรือนเกิดจากการกู้เพื่อไปใช้อุปโภคบริโภค เหมือนช่วง 2 ปีที่ผ่านมา แต่การกู้เงินของรายย่อยในลักษณะที่เป็นการกู้เพื่อไปใช้ประกอบอาชีพ สร้างรายได้ ความเสี่ยงต่อปัญหาหนี้ครัวเรือนก็ลดลงไปด้วย อย่างไรก็ตาม การจะแยกนาโนไฟแนนซ์ว่าเป็นหนี้สินที่อยู่นอกระบบหรือหนี้สินในระบบเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก"โฆษก ธปท.กล่าว

ส่วนกรณีที่รัฐบาลเตรียมออกพันธบัตรเพื่อบริหารจัดการหนี้จากการแก้ไขปัญหาราคาสินค้าเกษตรกว่า 8 แสนล้านบาทนั้น โฆษก ธปท.กล่าวว่า แนวทางดังกล่าวจะไม่กระทบต่อสภาพคล่องที่มีอยู่ในระบบ หรือกรณีที่อาจมีการถอนเงินจากสถาบันการเงินเพื่อไปลงทุนในพันธบัตรออมทรัพย์นั้น เชื่อว่าสถาบันการเงินมีแนวทางบริหารจัดการสภาพคล่องได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ