ทั้งนี้ กิจกรรมสำคัญในงานจะมีการบรรยายพิเศษจากตัวแทนในแต่ละจังหวัด ได้แก่ งานสัมมนา ณ จังหวัดพังงา มีกิจกรรมสำคัญ ได้แก่ ตัวแทนอุตสาหกรรมจังหวัดพังงา บรรยายในหัวข้อ กลยุทธ์การพัฒนาอุตสาหกรรมของจังหวัดพังงา สู่ AEC และประธานสภาอุตสาหกรรม จังหวัดพังงา บรรยายหัวข้อ ศักยภาพด้านอุตสาหกรรมของจังหวัดพังงา เป็นต้น ขณะที่การจัดสัมมนา ณ จังหวัดชุมพร จะมีประธานหอการค้าจังหวัดชุมพร ร่วมบรรยายพิเศษหัวข้อศักยภาพด้านเศรษฐกิจของจังหวัดชุมพร เป็นต้น
นอกจากนี้ภายในงานยังได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานด้านสินเชื่อ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในพื้นที่ 2 จังหวัด อาทิ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอีแบงก์) บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) รวมถึงศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 10 ร่วมกันเปิดคลินิกให้คำปรึกษาด้านการลงทุนแก่ผู้ประกอบการที่สนใจ
“กิจกรรมที่จะจัดขึ้นใน 2 จังหวัดนี้ จะเน้นย้ำการสร้างความรู้และความเข้าใจที่เกี่ยวกับนโยบายส่งเสริมการลงทุน และข้อมูลที่น่าสนใจจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของกลุ่มเอสเอ็มอี โดยเฉพาะในส่วนของบีโอไอที่ปัจจุบัน มาตรการส่งเสริมการลงทุนแก่เอสเอ็มอี ที่เปิดให้เอสเอ็มอี 39 ประเภทกิจการที่บีโอไอกำหนด ได้ยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนได้โดยได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปีนั้น จะสิ้นระยะเวลาเปิดให้ยื่นได้ภายในสิ้นปี 2557 นี้
ดังนั้น จึงตั้งเป้าหมายที่จะกระตุ้นให้กลุ่มเอสเอ็มอีในพื้นที่ และจังหวัดใกล้เคียงได้เล็งเห็นถึงประโยชน์ของการได้รับส่งเสริมการลงทุนและตัดสินใจยื่นขอส่งเสริมการลงทุนภายในเวลาดังกล่าว เพื่อสร้างความเข้มแข็งและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับเอสเอ็มอีสู่ระดับสากลมากขึ้นต่อไป" นายสุวิชช์ กล่าว
สำหรับหรับการลงทุนในพื้นที่ 7 ภาคใต้ตอนบน ประกอบด้วย จังหวัดสุราษฎ์ธานี ชุมพร กระบี่ ภูเก็ต ระนอง พังงา และนครศรีธรรมราช ในช่วง 9 เดือน (มกราคม-กันยายน 2557) มีโครงการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ภาคใต้ตอนบน จำนวนทั้งสิ้น 51 โครงการ เงินลงทุนรวม 11,412.4 ล้านบาท เกิดการการจ้างงาน 1,798 คน โดย กิจการลงทุนส่วนใหญ่เป็นกิจการพลังงานทดแทน อาทิ กิจการผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคา กิจการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซชีวภาพ กิจการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิง ชีวมวล กิจการโรงแรม กิจการผลิตน้ำมันปาล์มดิบและน้ำมันเมล็ดในปาล์ม เป็นต้น