ทั้งนี้พื้นที่ สปก.ใน จ.นครราชสีมา ค่อนข้างมีปัญหา เพราะทับซ้อนกับพื้นที่ของกรมประชาสงเคราะห์ ได้ให้ประชาชนเข้าใช้ประโยนช์ตั้งแต่ปี 2537 และได้ออกเป็น นส.3 ขณะนี้กำลังหารือร่วมกันว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร
ขณะเดียวกันพื้นที่ สปก.ที่เปลี่ยนสภาพจากพื้นที่เกษตรกรรมไปใช้ประโยชน์อย่างอื่น โดยเฉพาะพื้นที่ จ.พะเยา จ.เชียงราย ที่มีหน่วยราชการไปตั้งสำนักงาน และมหาวิทยาลัยต่างๆ จนทำให้กลายเป็นเมือง ซึ่งมีการร้องเรียนให้เพิกถอนการเป็น พ.ร.บ.ประกาศพื้นที่ สปก.เพื่อให้สามารถใช้ดำเนินการอย่างอื่นได้
"ได้สั่งการให้ เลขาธิการ สปก.ไปหารือกับกรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง ซึ่งอาจแก้ไขให้เป็น พ.ร.บ.ราชพัสดุ เปิดช่องให้กรมธนารักษ์ เข้าไปเป็นเจ้าของและทำให้ที่ดินตกเป็นทรัพย์สินของแผ่นดิน โดยเป็นอำนาจของกรมธนารักษ์ไปจัดแปลงให้เช่าสิทธิตามความเหมาะสม"นายปีติพงศ์ กล่าว
อย่างไรก็ดี เรื่องนี้ต้องพิจารณาอย่างเข้มงวดมาก เพราะจะมีการนำไปเป็นแบบอย่างในพื้นที่อื่นๆ ที่คนในพื้นที่ไปบุกรุกไว้ก่อน ซึ่งไม่อยากให้เกิดลักษณะดังกล่าว เพราะจะทำให้พื้นที่เพื่อการเกษตรหมดไป ในปัจจุบันมีเพียงเอกสารสิทธิ์ สปก.เท่านั้นที่สามารถรักษาพื้นที่เกษตรกรรมของประเทศไว้ได้
ทั้งนี้แนวทางแก้ไขต้องดูความเหมาะสมในแต่ละพื้นที่ด้วย อาจให้ สปก.พิจารณาร่างแก้ไขพ.ร.บ.ในส่วนการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ สปก. ก่อนที่จะเพิกถอนและโอนที่ดิน สปก.ให้ไปอยู่ในความรับผิดชอบกรมธนารักษ์