"มูลค่าการส่งออกของไทยเดือนกันยายนกลับมาขยายตัวที่ร้อยละ 3.2 ตามสัญญาณการฟื้นตัวในตลาดสำคัญ ได้แก่ สหรัฐฯ และอาเซียน รวมทั้งการขยายตัวอย่างต่อเนื่องในกลุ่มสินค้าเกษตร อาทิ ข้าว มันสำปะหลัง และไก่แช่แข็งและแปรรูป ขณะที่การส่งออกกลุ่มสินแร่ เชื้อเพลิงและทองคำยังคงหดตัว...ในส่วนของการนำเข้าเป็นมูลค่าที่สูงที่สุดในรอบ 16 เดือน"นางนันทวัลย์ กล่าว
ขณะที่ช่วง 9 เดือนปีนี้(ม.ค.-ก.ย.57) มีมูลค่าการส่งออก 170,456 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 0.85% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนมูลค่าการนำเข้าอยู่ที่ 171,974 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 10.00% จากช่วงเดียวกัของปีก่อนเช่นกัน โดยดุลการค้ายังขาดดุล 1,517 ล้านเหรียญสหรัฐ
กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า การส่งออกของไทยเริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัว ขณะเดียวกันยังคงมีปัจจัยเสี่ยงหลายประการในช่วงไตรมาส 4/57 โดยสัญญาณการส่งออกเริ่มดีขึ้นจากการที่ตลาดส่งออกสำคัญกลับมาขยายตัวเกือบทุกตลาด ประกอบกับการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมสำคัญหลายรายการเริ่มกลับมาขยายตัวเช่นเดียวกัน ขณะที่สินค้ากลุ่มเกษตร/และอุตสาหกรรมเกษตรยังคงขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง รวมทั้งการนำเข้ากลุ่มสินค้าวัตถุดิบ/กึ่งสำเร็จรูป ที่เริ่มกลับมาขยายตัว โดยเฉพาะคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ
ส่วนจจัยเสี่ยงที่ต้องจับตามอง ได้แก่ การส่งออกสินค้ารถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบซึ่งหดตัวสูงในตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ อินโดนีเซีย และออสเตรเลีย ขณะเดียวกันตลาดใหม่ที่ขยายตัวสูงในช่วงครึ่งปีแรกเริ่มมีทิศทางขยายตัวในอัตราที่ลดลง รวมทั้งการนำเข้าสินค้าส่วนประกอบ และอุปกรณ์ยานยนต์ที่ยังหดตัวต่อเนื่อง รวมถึงราคาสินค้าเกษตรยังคงมีแนวโน้มลดลงโดยเฉพาะยางพาราที่ยังคงหดตัวต่อเนื่องในระดับสูงของช่วงครึ่งปีหลัง และข้อจำกัดด้านอุปทานในสินค้าอาหารทะเลแช่แข็งและแปรรูป รวมทั้งราคาทองคำซึ่งเป็นปัจจัยให้การส่งออกทองคำมีความผันผวน
นางนันทวัลย์ เปิดเผยว่า แนวโน้มการส่งออกในช่วง 3 เดือนที่เหลือของปีนี้เชื่อว่าจะเริ่มดีขึ้น และทำให้ภาพรวมการส่งออกทั้งปีไม่น่าจะติดลบ หากการส่งออกในแต่ละเดือนที่เหลือทำได้มากกว่า 19,500 ล้านดอลลาร์
"ทั้งปีคาดว่าจะไม่ติดลบ แต่ก็ยังมีความไม่แน่นอนจากการส่งออกในเดือนต.ค.นี้ เพราะถ้าเทียบในเดือน ต.ค.ปีก่อนตัวเลขการส่งออกค่อนข้างสูง ดังนั้นในช่วง 3 เดือนที่เหลือของปีนี้ต้องทำให้ได้มากกว่า 19,500 ล้านดอลลาร์ต่อเดือน การส่งออกทั้งปีจึงจะเป็นบวก" นางนันทวัลย์ ระบุ
อย่างไรก็ดี จากผลสำรวจของผู้ประกอบการส่งออกต่อดัชนีคำสั่งซื้อใหม่ พบว่าตัวเลขดัชนีฯ ในเดือนต.ค.ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็น 58.3 จากในเดือนก.ย.ซึ่งอยู่ที่ 53.3 ซึ่งดัชนีคำสั่งซื้อใหม่ในเดือนต.ค.ถือว่าเกินระดับค่าปกติที่ 50 ไปค่อนข้างมาก โดยสินค้าที่มีแนวโน้มส่งออกได้ดี เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า, ยานพาหนะ, ผลิตภัณฑ์พลาสติก, เหล็ก, อัญมณี-เครื่องประดับ และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น
นางนันทวัลย์ กล่าวอีกว่า ปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่อการส่งออกในช่วงที่เหลือของปีนี้และตลอดทั้งปีหน้า ได้แก่ 1.เศรษฐกิจโลกยังฟื้นตัวได้ไม่เต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจของสหภาพยุโรปและญี่ปุ่น มีเพียงสหรัฐฯตลาดเดียวที่เห็นได้ชัดเจนว่าเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวดีขึ้น 2.ความไม่แน่นอนเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน เพราะเมื่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ เริ่มฟื้นตัวก็มีแนวโน้มที่จะเห็นความชัดเจนเรื่องการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ดังนั้น ปัจจัยนี้จะส่งผลให้ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับค่าเงินสกุลอื่น 3.ราคาทองคำในตลาดโลกที่มีความผันผวน และ 4.ราคาสินค้าเกษตรที่ปรับตัวลดลงมาต่อเนื่อง 2 ปี และยังไม่เห็นทิศทางที่ชัดเจนว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้น