ทั้งนี้มีหลายประเด็นที่ต้องติดตามอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศที่เป็นคู่ค้าสำคัญของไทย อาทิ จีน ยูโรโซน และญี่ปุ่น ที่ยังไม่กลับสู่ภาวะปกติ ซึ่งอาจส่งผลบางส่วนกลับมากดดันการฟื้นตัวของราคาสินค้าส่งออกที่สำคัญ ทั้งในกลุ่มที่เป็นสินค้าโภคภัณฑ์(ทั้งสินค้าเกษตร สินค้ากลุ่มแร่ เชื้อเพลิงและน้ำมัน) ขณะที่สินค้าส่งออกที่มีความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ ของภาคการส่งออกไทย อาทิ รถยนต์ อุปกรณ์/ส่วนประกอบ ยางพารา และแผงวงจรไฟฟ้า ซึ่งยังคงหดตัวลงอย่างต่อเนื่อง ก็อาจเป็นสัญญาณที่สะท้อนว่า เส้นทางการฟื้นตัวของภาคการส่งออกของไทยยังต้องก้าวข้ามหลายโจทย์ที่ท้าทายในช่วงที่เหลือของปี
"ยอมรับว่า ตัวเลขดังกล่าวยังเป็นอัตราที่ไม่สูงมากนักเมื่อเทียบกับในอดีต และยังคงมีอีกหลายประเด็นที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดในช่วงปีข้างหน้า โดยเฉพาะโครงสร้างการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมที่จะต้องปรับเปลี่ยนตามเทรนด์ในตลาดโลก รวมถึงสภาพการแข่งขันที่น่าจะเข้มข้นมากขึ้นในหลายๆ สินค้า ขณะที่ราคาสินค้าเกษตรสำคัญหลายรายการก็อาจทรงตัวในระดับที่ใกล้เคียงกับปีนี้" ศูนย์วิจัยฯ ระบุ
ดังนั้น โจทย์สำหรับการส่งออกไทยในระยะข้างหน้า นอกจากจะเป็นการรักษาส่วนแบ่งตลาดในประเทศคู่ค้าสำคัญ และการแสวงหาโอกาสในตลาดส่งออกใหม่ๆ แล้ว ในภาคการผลิตก็อาจจะต้องมีการปรับตัว พัฒนาประสิทธิภาพการผลิต ให้ทันกับห่วงโซ่อุปทานและเทคโนโลยี ที่เปลี่ยนแปลงมากขึ้นด้วยเช่นกัน