สศก.เดินหน้าช่วยชาวสวนยาง หลังเสนอครม.อนุมัติเพิ่มเติมอีก 4 โครงการ

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday October 29, 2014 11:32 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายเลอศักดิ์ ริ้วตระกูลไพบูลย์ เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึง โครงการช่วยเหลือเรื่องยางพาราเพิ่มเติม จำนวน 4 โครงการ ตามที่คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติ ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ โดย สศก. ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ ได้เสนอมาตรการช่วยเหลือเรื่องยางพารา เข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 21 ตุลาคมที่ผ่านมา โดยเพิ่มเติมอีกจำนวน 4 โครงการ เพื่อช่วยรักษาเสถียรภาพราคายางในตลาดไม่ให้เกิดความผันผวนมากจนเกินไป เกื้อกูลให้สถาบันเกษตรกรมีตลาดสำหรับระบายยาง เกิดการหมุนเวียนการผลิตและการรับซื้อยางดิบจากเกษตรกรนำมาแปรรูป รวมทั้งชดเชยรายได้เพื่อแก้ปัญหาความเดือดร้อนเฉพาะหน้าให้แก่เกษตรกร และสนับสนุนเงินทุนในการประกอบอาชีพเสริม เพื่อเสริมสภาพคล่อง ประกอบด้วย

1. โครงการสร้างมูลภัณฑ์กันชนเพื่อรักษาเสถียรภาพราคายาง โดยองค์การสวนยาง (อ.ส.ย.) จะใช้เงินกู้จากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) วงเงิน 6,000 ล้านบาท เพื่อรับซื้อยางแผ่นรมควัน ยางแผ่นรมควันอัดก้อน และยางแท่ง STR20 จากสถาบันเกษตรกร และตลาดกลางยางพารา ทั้งตลาดซื้อขายจริง (spot market) และตลาดข้อตกลงส่งมอบจริง (forward market) นำมาบริหารจัดการเป็นลักษณะสต๊อกหมุนเวียน (moving stock) เพื่อใช้เป็นมูลภัณฑ์กันชนสำหรับลดความผันของราคายางในตลาด โดยคณะกรรมการบริหารกิจการของ อ.ส.ย. แต่งตั้งคณะทำงานขึ้นมาพิจารณาหลักเกณฑ์ เงื่อนไข แนวทาง และข้อปฏิบัติการซื้อขายและการบริหารจัดการโครงการ โดยจะเข้ารับซื้อเมื่อราคายางในตลาดอยู่ในระดับต่ำกว่าราคาที่กำหนด และเสนอขายตามความเห็นชอบของคณะทำงาน ระยะเวลาดำเนินการ 18 เดือน (พฤศจิกายน 2557 – เมษายน 2559) โดยคาดหวังว่าโครงการนี้จะสามารถรักษาเสถียรภาพราคายางในตลาดไม่ให้เกิดความผันผวนมากจนเกินไป เกื้อกูลให้สถาบันเกษตรกรมีตลาดสำหรับระบายยาง เกิดการหมุนเวียนการผลิตและการรับซื้อยางดิบจากเกษตรกรนำมาแปรรูปต่อไป

2.โครงการชดเชยรายได้แก่เกษตรกรชาวสวนยาง ใช้สินเชื่อจาก ธ.ก.ส. วงเงิน 8,200 ล้านบาท สำหรับจ่ายชดเชยรายได้ให้แก่เกษตรกรซึ่งมีพื้นที่สวนยางเปิดกรีดที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่มีเอกสิทธิ รวมทั้งเอกสารสิทธิ 46 รายการตามหนังสือของกรมป่าไม้ ในอัตราไร่ละ 1,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 15 ไร่ เป้าหมาย 850,000 ครัวเรือน พื้นที่สวนยางเปิดกรีดที่อยู่ในข่ายจะได้รับความช่วยเหลือประมาณ 8.2 ล้านไร่ ซึ่งกรมส่งเสริมการเกษตรจะกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของผู้ที่จะเข้าร่วมโครงการ เสนอให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารโครงการระดับจังหวัด รับขึ้นทะเบียนเกษตรกร พร้อมทั้งตรวจสอบคุณสมบัติของเกษตรกร ส่งข้อมูลให้ ธ.ก.ส. และคาดว่า ธ.ก.ส. จะสามารถเริ่มทยอยโอนเงินเข้าบัญชีให้กับเกษตรกรได้ตั้งแต่วันที่ 15 พฤศจิกายน 2557 เป็นต้นไป จนแล้วเสร็จภายในระยะโครงการ 6 เดือน

3.โครงการสนับสนุนสินเชื่อเกษตรกรชาวสวนยางรายย่อยเพื่อประกอบอาชีพเสริม โดยสนับสนุนสินเชื่อจาก ธ.ก.ส. วงเงิน 10,000 ล้านบาท ให้แก่เกษตรกรชาวสวนยางรายย่อยเพื่อประกอบอาชีพเสริมด้านการเกษตร วงเงินสินเชื่อให้เป็นไปตามแผนการผลิตของเกษตรกร ครัวเรือนละไม่เกิน 100,000 บาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 2 ต่อปี เป้าหมายเกษตรกร 100,000 ครัวเรือน ระยะเวลาการชำระเงินกู้ไม่เกิน 5 ปี (ปี 2558-2562) ทั้งนี้ หากเกษตรกรไม่สามารถชำระเงินกู้ได้ภายในระยะเวลาที่กำหนดให้ ธ.ก.ส. สามารถปรับเงื่อนไขการกู้เงิน และการเรียกเก็บดอกเบี้ยได้ตามข้อบังคับและวิธีปฏิบัติของธนาคาร ซึ่งกรมส่งเสริมการเกษตรจะกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของผู้ที่จะเข้าร่วมโครงการ เสนอให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารโครงการระดับจังหวัดรับสมัครเกษตรกร

4. โครงการสนับสนุนสินเชื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนแก่ผู้ประกอบการยาง โดยสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยผ่อนปรน จาก ธ.ก.ส.ให้แก่ผู้ประกอบการแปรรูปน้ำยางข้น วงเงินสินเชื่อ 10,000 ล้านบาท ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 2 ต่อปี โดยผู้ประกอบการแปรรูปน้ำยางข้นที่ประสงค์จะเข้าร่วมโครงการ สามารถยื่นขอรับการสนับสนุนสินเชื่อผ่าน สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม ในเบื้องต้นมีธนาคารพาณิชย์แจ้งความประสงค์ให้การสนับสนุนสินเชื่อ 6 ธนาคาร ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารทหารไทย และธนาคารธนชาติ เพื่อพิจารณาคุณสมบัติของผู้ขอเข้าร่วมโครงการตามหลักเกณฑ์การให้สินเชื่อของธนาคารต่อไป โครงการนี้เป็นการเสริมสภาพคล่องให้แก่ผู้ประกอบการแปรรูปน้ำยางข้น ใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการรับซื้อน้ำยางดิบโดยนำไปแปรรูปเป็นน้ำยางข้นสำหรับเก็บในสต๊อค หรือเพื่อการส่งออก เป็นการลดปริมาณยางในตลาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงฤดูกาลที่ผลผลิตยางออกสู่ตลาดจำนวนมากในเดือนพฤศจิกายน 2557 – กุมภาพันธ์ 2558 ซึ่งจะมีผลผลิตยางออกมามากถึงร้อยละ 37 ของปริมาณผลผลิตทั้งปี หรือประมาณ 1.5 ล้านตัน เมื่อลดปริมาณยางในตลาดลงจะส่งผลให้ราคายางในตลาดปรับตัวสูงขึ้นและมีเสถียรภาพมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้รัฐบาลได้มีการอนุมัติโครงการตามแนวทางพัฒนายางพาราทั้งระบบ ตามมติ คสช. เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาไปเรียบร้อยแล้ว ประกอบด้วย มาตรการเร่งด่วน คือ การสนับสนุนสินเชื่อแก่สถาบันเกษตรกร และผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ยาง จำนวน 3 โครงการ ได้แก่ 1. โครงการสนับสนุนเงินทุนหมุนเวียนแก่สถาบันเกษตรกรเพื่อใช้ในการรวบรวมยาง โดยสนับสนุนสินเชื่อจาก ธ.ก.ส. ให้แก่สถาบันเกษตรกร และวิสาหกิจชุมชนที่ทำธุรกิจด้านยางพารา เพื่อใช้เป็นทุนหมุนเวียนในการรวบรวมหรือรับซื้อผลผลิตยางพาราจากเกษตรกร นำไปจำหน่ายหรือแปรรูปเพื่อรอการจำหน่าย วงเงิน 10,000 ล้านบาท โดยสถาบันเกษตรกร/วิสาหกิจชุมชนที่เข้าร่วมโครงการ รับภาระดอกเบี้ยร้อยละ 1 ต่อปี ระยะเวลาดำเนินโครงการ 1 ปี ตั้งแต่ กันยายน 2557 –ธันวาคม 2558

2. โครงการสนับสนุนสินเชื่อสถาบันเกษตรกรแปรรูปยางพารา โดยสนับสนุนสินเชื่อจาก ธ.ก.ส. ให้แก่สถาบันเกษตรกร 245 แห่ง เพื่อใช้ในการขยายกำลังการผลิต/ เพิ่มประสิทธิภาพการแปรรูปยางเบื้องต้น เป็นยางแท่ง ยางแผ่นรมควัน ยางอัดก้อน ยางคอมปาวด์ น้ำยางข้น ยางเครป และผลิตภัณฑ์ยางสำเร็จรูป โดยใช้ประโยชน์จากโรงงานที่จัดสร้างไว้แล้ว และหรือลงทุนสร้างโรงงานใหม่ วงเงิน 5,000 ล้านบาท โดยแบ่งออกเป็นสินเชื่อเพื่อการลงทุน 3,500 ล้านบาท และสินเชื่อเพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนในการซื้อยางเข้าแปรรูป 1,500 ล้านบาท ระยะเวลาในการดำเนินการโครงการ 10 ปี ตั้งแต่ กันยายน 2557 สิงหาคม 2567

3. โครงการสนับสนุนสินเชื่อผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ยาง โดยสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยผ่อนปรนจากธนาคารออมสินให้แก่ผู้ประกอบการแปรรูปผลิตภัณฑ์ยาง เพื่อใช้ในการขยายกำลังการผลิต/ปรับเปลี่ยนเครื่องจักรการผลิต ประเภทผลิตภัณฑ์ เช่น ยางล้อ ถุงมือยาง และ ยางยืด วงเงิน 15,000 ล้านบาท ระยะเวลาโครงการ 7 ปี ตั้งแต่กันยายน 2557 – สิงหาคม 2564

โครงการด้านยางพาราทั้ง 7 โครงการข้างต้น จะส่งผลดีต่อเกษตรกรทั้งในแง่ของการแก้ปัญหาความเดือนร้อนเฉพาะหน้า การลดความเสี่ยงจากการพึ่งพารายได้จากสวนยางเพียงอย่างเดียว และการลดความผันผวนของราคายางและการพยุงราคายางให้สูงขึ้น ด้วยการลดปริมาณยางในตลาด การเพิ่มการใช้ยางในประเทศเพื่อการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์สร้างมูลค่าเพิ่ม ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล โครงการดังกล่าวต้องทำไปพร้อมกัน ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้จัดตั้งศูนย์บริหารการแก้ไขปัญหาสินค้ายางพาราอย่างเป็นระบบครบวงจรเพื่อติดตามเร่งรัดการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เป็นรูปธรรมโดยเร็ว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ