ทั้งนี้ ในปัจจุบันรายได้ของรัฐที่มาจากการจัดเก็บภาษีนั้นส่วนใหญ่ 76% มาจากภาษีสรรพากร ซึ่งได้วางเป้าหมายเพื่อเพิ่มสัดส่วนการจัดเก็บภาษีของสรรพากรให้เพิ่มขึ้นเป็น 80% โดยรายได้ส่วนที่เพิ่มขึ้นนั้นไม่ใช่มาจากการขยายฐานภาษี แต่จะมาจากการเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บ ตลอดจนการอุดช่องโหว่ต่างๆ เพื่อลดการหลีกเลี่ยงการเสียภาษี ประกอบกับการที่จะมีการจัดเก็บภาษีตัวใหม่ๆ เข้ามาเพิ่มขึ้นด้วย
ด้านนายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า ในปีงบประมาณ 2558 นี้ กรมสรรพากรมีเป้าหมายในการจัดเก็บภาษีรวม 1.96 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นประมาณการจัดเก็บภาษีที่เพิ่มขึ้น 13% จากในปีงบประมาณ 2557 โดยในปีงบประมาณ 2557 ที่ผ่านมาพบว่ากรมสรรพากรสามารถจัดเก็บภาษีได้ราว 1.6 ล้านล้านบาท จากเป้าที่ตั้งไว้ 1.76 ล้านล้านบาท ซึ่งถือว่าต่ำกว่าเป้าหมายราว 1.6 แสนล้านบาท
อย่างไรก็ดี ภาพรวมผลการจัดเก็บภาษีประเภทต่างๆ เริ่มมีสัญญาณที่ดีขึ้น เช่น ภ.ง.ด.2, ภ.ง.ด.3, ภ.ง.ด.51, ภ.ง.ด.53, ภ.พ.30 และอากรแสตมป์ เป็นต้น นอกจากนี้ กรมสรรพากรยังมุ่งให้ความรู้และความเข้าใจแก่ผู้ประกอบการที่อยู่นอกระบบให้เข้าสู่ระบบเสียภาษีอย่างถูกต้องให้มากขึ้น เช่น ธุรกิจ e-Commerce ที่ปัจจุบันมีอยู่กว่า 1.45 แสนราย
อธิบดีกรมสรรพากร ยังกล่าวถึงแนวโน้มเรื่องการปรับอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม(VAT) ว่า การจะปรับขึ้นภาษี VAT หรือไม่คงต้องขึ้นกับปัจจัยที่สำคัญ 2 ประการ คือ 1.นโยบายของรัฐบาล และ 2.ภาวะเศรษฐกิจในขณะนั้น ซึ่งก่อนที่จะครบกำหนดในเดือนก.ย.58 ก็คงจะต้องพิจารณาสภาพเศรษฐกิจในขณะนั้นหลายด้านควบคู่กันไป ทั้ง ภาวะเงินเฟ้อ, GDP รวมทั้งศึกษาแนวทางการปรับขึ้นภาษี VAT จากประเทศอื่นๆ ว่าเมื่อปรับขึ้นแล้วมีผลตามมาอย่างไร เช่น ญี่ปุ่น
“มีแนวคิดเรื่องการปรับขึ้น(ภาษี VAT) แต่สุดท้ายแล้วจะขึ้นหรือไม่ขึ้นนั้น ก็ต้องอยู่กับสภาพแวดล้อมในขณะนั้นด้วย ตอนนี้คงยังระบุชัดเจนไม่ได้ แต่มองว่าเป็นการเก็บภาษีทางอ้อมที่มีความเป็นธรรมมากที่สุด เพราะบริโภคมากก็จ่ายมาก บริโภคน้อยก็จ่ายน้อย" อธิบดีกรมสรรพากร ระบุ