นายประเดิมชัย จันทน์เสนะ ผู้ช่วยผู้จัดการ ธ.ก.ส. กล่าวว่า เนื่องจากสถานการณ์ราคายางพาราในฤดูการผลิตปี 2557/2558 ตกต่ำลงอย่างต่อเนื่องทั้งภายในประเทศและตลาดต่างประเทศ จากในช่วงต้นปี 2557 ราคาแผ่นดิบราคาอยู่ที่ 70 บาทต่อกิโลกรัม ล่าสุดเมื่อวันที่ 23 ก.ย.57 ราคายางแผ่นดิบลดต่ำลงสู่ระดับ 46 บาทต่อกิโลกรัม ทั้งที่ในช่วงเวลาดังกล่าวฝนตกหนัก เกษตรกรไม่สามารถกรีดยางพาราได้ ผลผลิตออกสู่ตลาดน้อย ราคาก็ลดต่ำอย่างต่อเนื่อง และสต็อกก็มีจำนวนไม่มากเมื่อเทียบกับความต้องการใช้ยางพาราของประเทศผู้ใช้
ทั้งนี้เพื่อสร้างกลไกเพิ่มเติมรักษาความมีเสถียรภาพของราคายาง โดยให้กองทุนฯ เข้าซื้อและขายยางทั้งในตลาดซื้อขายจริงและตลาดล่วงหน้า เพื่อลดความผันผวนของราคายาง โดยกองทุนฯ จะเข้าดำเนินซื้อและขายยางแผ่นรมควันอัดก้อน ยางแท่ง STR 20 และยางก้อนถ้วยผ่านกลไกตลาดการซื้อขายจริง(Spot Market) ตลาดข้อตกลงส่งมอบจริง(Forward Market) ของตลาดกลางยางพาราของแต่ละจังหวัด บริหารจัดการสต็อกแบบหมุนเวียน(Rolling Stock) โดยใช้แนวทาง Buffer Fund เพื่อเป็นมูลภัณฑ์กันชนรักษาเสถียรภาพราคายางไม่ให้ราคายางเปลี่ยนแปลงรวดเร็วจนเกินไป นอกจากนั้นยังซื้อขายและบริหารสต็อกแบบหมุนเวียน(Rolling Stock) จำนวน 2000,000 ตัน โดยเริ่มจากเดือน ต.ค.57 ถึงเดือน มี.ค.58
โดยเมื่อวันที่ 21 ต.ค.ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรี(ครม.) มีมติอนุมัติแนวทางการบริหารจัดการยางพาราของ อ.ส.ย. โดยมีโครงการสร้างมูลภัณฑ์กันชนรักษาเสถียรภาพราคายางพารา โดยให้ อ.ส.ย.กู้เงินจาก ธ.ก.ส.เพื่อรับซื้อยางในตลาดในช่วงที่ราคายางตกต่ำวงเงินสินเชื่อ 6,000 ล้านบาท ระยะเวลา 18 เดือน โดยรัฐบาลจะชดเชยต้นทุนเงินให้ ธ.ก.ส.ในอัตรา FDR+1 และกระทรวงการคลังค้ำประกันเงินที่ ธ.ก.ส.จ่ายทั้งจำนวน พร้อมทั้งให้ ธ.ก.ส.แยกบัญชีออกจากการดำเนินงานปกติเป็นการดำเนินงานตามนโยบายรัฐ(Public Service Account:PSA)