ประกอบกับฐานเปรียบเทียบที่ต่ำในช่วงเดียวกันปีก่อน จะส่งผลหนุนให้อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 2557 มีค่าเฉลี่ยประมาณร้อยละ 3.0(YoY) หรืออาจจะสูงกว่านั้น หากรัฐบาลสามารถเดินหน้ากลไกสนับสนุนเศรษฐกิจได้อย่างเต็มที่ ซึ่งย่อมจะทำให้สถานการณ์เศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลัง มีภาพที่ดีขึ้นเมื่อเทียบกับที่หดตัวลงร้อยละ 0.1(YoY) ในช่วงครึ่งแรกของปี และทำให้ภาพรวมเศรษฐกิจไทยทั้งปี 2557 ยังมีโอกาสขยายตัวใกล้เคียงร้อยละ 1.6 ตามประมาณการของศูนย์วิจัยกสิกรไทย
ทั้งนี้ สถานการณ์การใช้จ่ายของภาคครัวเรือนและการเริ่มวางแผนลงทุนของภาคธุรกิจ ทยอยมีสัญญาณฟื้นตัวที่ต่อเนื่องมากขึ้นในช่วงระหว่างไตรมาส 3/2557 ซึ่งสะท้อนผ่านยอดการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม การใช้จ่ายในกลุ่มสินค้าไม่คงทน/กึ่งคงทน (อาทิ ปริมาณการใช้ไฟฟ้า/เชื้อเพลิง) ตลอดจนการพลิกกลับมาขยายตัวของมูลค่าการนำเข้าสินค้าทุน (รูปดอลลาร์ฯ) และการเพิ่มขึ้นของยอดการขอรับและการอนุมัติส่งเสริมการลงทุน ขณะที่ การใช้จ่ายของภาครัฐผ่านงบประจำก็สามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง
ยอดขายในกลุ่มสินค้าคงทน อาทิ รถยนต์ในไตรมาส 3/2557 แม้จะฟื้นตัวล่าช้า แต่อัตราการหดตัวก็น้อยลงกว่าในไตรมาสก่อนหน้า (ยอดขายยานยนต์ในประเทศ หดตัวลงร้อยละ 29.3 YoY ในไตรมาส 3/2557 เทียบกับที่หดตัวร้อยละ 33.8 YoY ในไตรมาส 2/2557) เช่นเดียวกับการส่งออกที่ไม่นับรวมทองคำในไตรมาสที่ 3/2557 ที่แม้จะยังขยายตัวในระดับต่ำประมาณร้อยละ 0.8 (YoY) แต่ก็สูงขึ้นเมื่อเทียบกับที่ขยายตัวเพียงร้อยละ 0.1 ในไตรมาส 2/2557
จากสัญญาณของเครื่องชี้เศรษฐกิจรายเดือนตลอดช่วงไตรมาส 3/2557 ดังกล่าวข้างต้น ทำให้ประเมินว่า สถานการณ์เศรษฐกิจไทยกำลังเข้าสู่ช่วงเริ่มแรกของเส้นทางการฟื้นตัว โดยมีกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายในประเทศที่สามารถกลับมาทำงานได้สอดประสานกันมากขึ้น (ทั้งในส่วนการผลักดันเม็ดเงินงบประมาณของภาครัฐ การบริโภคภาคเอกชน และการกลับมาเตรียมแผนการลงทุนของภาคธุรกิจ) ซึ่งทิศทางดังกล่าว น่าจะมีส่วนช่วยชดเชยความเปราะบางของจังหวะการขยายตัวของภาคการส่งออกได้บางส่วน
สำหรับช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2557 ภาพรวมของเศรษฐกิจไทยในช่วงโค้งสุดท้ายของปี 2557 ที่น่าจะยังอยู่ท่ามกลางสัญญาณเชิงบวกจากแรงขับเคลื่อนภายในประเทศ พร้อมๆ กับสภาพแวดล้อมที่ค่อนข้างท้าทายของภาคการส่งออกและการท่องเที่ยว ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังคงประเมินแนวโน้มเส้นทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในไตรมาส 4/2557 อย่างระมัดระวัง เพราะคงต้องยอมรับว่า การปรับตัวดีขึ้นของกิจกรรมทางเศรษฐกิจหลายด้าน จะมีอานิสงส์จากฐานเปรียบเทียบที่ต่ำในช่วงเดียวกันปีก่อน ดังนั้น คงต้องฝากความหวังไว้ที่ตัวแปรกระตุ้นการใช้จ่ายภายในประเทศ โดยเฉพาะการเดินหน้ามาตรการสนับสนุนเศรษฐกิจ และการเร่งผลักดันเม็ดเงินงบประมาณในหลายๆ ส่วนของภาครัฐให้มีความต่อเนื่องและใกล้เคียงกับเป้าหมายที่วางไว้ให้มากที่สุด นอกจากนี้ หากสถานการณ์การเมืองในช่วงระหว่างการเดินหน้าปฏิรูปประเทศเป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อย ก็อาจช่วยหนุนบรรยากาศในภาคการท่องเที่ยว และช่วยกระตุ้นการลงทุนในภาคธุรกิจให้ทยอยฟื้นตัวกลับมาอีกครั้งในช่วงปลายปี