ทั้งนี้ ผู้ประกอบธุรกิจรายใดรายหนึ่งที่มีส่วนแบ่งตลาดในปีที่ผ่านมาตั้งแต่ 30% ขึ้นไป และมียอดขายตั้งแต่ 500 ล้านบาทขึ้นไป, ผู้ประกอบธุรกิจ 3 รายแรกในตลาดสินค้าใดสินค้าหนึ่งมีส่วนแบ่งตลาด 75% ขึ้นไป และมียอดขาย 500 ล้านบาทขึ้นไป ถือว่าเป็นผู้ที่มีอำนาจเหนือตลาด จากเดิมที่กำหนดให้ต้องมีส่วนแบ่งตลาด 50% ขึ้นไป และมียอดขายเกิน 1,000 ล้านบาท ยกเว้นผู้ประกอบธุรกิจรายใดรายหนึ่งที่มีส่วนแบ่งตลาดต่ำกว่า 10% หรือมียอดขายต่ำกว่า 500 ล้านบาท จะไม่ถือว่าเป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาด
รมช.พาณิชย์ กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์จะนำเกณฑ์ดังกล่าวเสนอขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี(ครม.) จากนั้นจะมีผลบังคับใช้ภายหลังประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาแล้ว
การเป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาด พ.ร.บ.แข่งขันทางการค้า กำหนดห้ามทำธุรกิจเอาเปรียบรายเล็ก หรือทำธุรกิจที่ทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมทางการค้า เช่น ฮั้วกันกำหนดราคาจนทำให้รายเล็กเสียเปรียบทางการแข่งขัน ซึ่งจะถือว่าผิดกฎหมาย แต่หากผู้มีอำนาจเหนือตลาดยังคงทำการค้าอย่างเป็นธรรมจะไม่ถือว่าผิดกฎหมาย
ส่วนเกณฑ์การรวมธุรกิจภายใต้ พ.ร.บ.แข่งขันทางการค้า ที่ประชุมฯ มอบหมายให้กรมการค้าภายใน ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการฯ ไปดำเนินการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสีย จากเดิมธุรกิจที่มีอำนาจเหนือตลาดต้องมีส่วนแบ่งตลาด 50% ขึ้นไป และยอดขายเกิน 1,000 ล้านบาทต่อปี
นอกจากนี้ ที่ประชุมฯ ยังเห็นชอบแนวทางปรับปรุง พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ.2542 ตามที่กรมการค้าภายในได้ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียแล้ว ซึ่งหลังจากนี้กระทรวงพาณิชย์จะนำเสนอขอความเห็นชอบจาก ครม.ก่อนวันที่ 15 ธ.ค.นี้ หากเห็นชอบแล้วจะนำเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) เพื่อเข้าสู่กระบวนการออกกฎหมายต่อไป
สำหรับประเด็นที่ปรับปรุงแก้ไข ได้แก่ 1.บังคับใช้กฎหมายกับรัฐวิสาหกิจ 2.ยกระดับสำนักงานคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า เป็นองค์กรอิสระ 3.มีผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านในการบริหารงาน 4.ปรับเพิ่มนิยามผู้ประกอบการธุรกิจให้หมายรวมถึงบริษัทในเครือ 5.เพิ่มเติมหน้าที่ของคณะกรรมการฯให้มีอำนาจประกาศแนวทางปฎิบัติเรื่องต่างๆ(ไกด์ไลน์) ตามกฎหมาย เพื่อให้บังคับใช้ได้ตามกฎหมาย 6.ปรับแก้ไขมาตรา 26 7.กำหนดให้มีมาตรการลดหย่อนผ่อนโทษ 8.ปรับบทกำหนดโทษ 9.เพิ่มบทบัญญัติเรื่องสภาพการบังคับใช้นอกราชอาณาจักร เช่น เรื่องของผู้ให้บริการขนส่งสินค้าทางเรือ ที่ปรับขึ้นค่าบริการนอกราชอาณาจักร แต่ส่งผลกระทบถึงการทำธุรกิจในไทยที่ต้องปรับขึ้นค่าบริการตาม จึงจำเป็นต้องนำมาอยู่ภายใต้กฎหมายเพื่อให้มีการควบคุมดูแล และ 10.เพิ่มอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการฯให้สั่งฟ้องได้เอง กรณีที่อัยการไม่ส่งฟ้อง และให้คณะกรรมการฯมีอำนาจคล่องตัวมากขึ้น โดยเพิ่มคำว่า “อาจ" ในมาตรา 31 ซึ่งเป็นบทลงโทษในการป้องกันการผูกขาด