ข้อมูลเศรษฐกิจไทยล่าสุดในเดือนกันยายนและไตรมาส 3/2557 ที่ประกาศออกมา ยังชี้ถึงการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ค่อนข้างเชื่องช้า ไม่ว่าจะเป็นการบริโภคที่การฟื้นตัวยังจำกัดเฉพาะการบริโภคสินค้าไม่คงทน หรือกึ่งคงทน ขณะที่ การลงทุนยังคงอ่อนแรง จากกำลังการผลิตส่วนเกินของภาคธุรกิจที่ยังคงมีอยู่ ด้านการส่งออกนั้น แม้จะสามารถพลิกจากการหดตัวในเดือนก่อนๆ หน้า กลับมาอยู่ในแดนบวกได้ในเดือนกันยายน 2557 แต่ตัวเลขสะสมในช่วง 9 เดือนแรก ก็ยังคงหดตัวจากระยะเดียวกันของปีก่อนที่ 0.7% และยังมีความเสี่ยงที่ตัวเลขการส่งออกสำหรับทั้งปี 2557 อาจจบปีด้วยการหดตัวเล็กน้อย ท่ามกลางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลักของไทยที่อ่อนแรง และปัญหาความสามารถในการแข่งขันของสินค้าส่งออกของไทยบางประเภท (ซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักที่ทำให้นักวิเคราะห์ รวมถึงทางการไทย อาทิ กระทรวงการคลัง ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจสำหรับปี 2557 ลง)
ทั้งนี้ แรงกดดันเงินเฟ้อที่ค่อนข้างผ่อนคลายในปัจจุบัน เอื้อต่อการใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยต่ำ ขณะที่ความเสี่ยงในการเกิดภาวะเงินฝืดยังอยู่ในระดับต่ำ โดยการปรับลดลงของเงินเฟ้อทั่วไปจากระดับเหนือ 2% ในช่วงปลายไตรมาส 1/2557 มาเหลือที่ 1.75% ในเดือนกันยายน 2557 ที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งเป็นเพราะราคาพลังงานและราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกที่ปรับลดลงค่อนข้างมาก ซึ่งส่งผ่านผลกระทบบางส่วนมายังราคาพลังงานและราคาสินค้าเกษตรในประเทศ อันถือเป็นปัจจัยด้านอุปทานช่วยผ่อนคลายแรงกดดันในภาพรวมต่อเงินเฟ้อทั่วไปลง ขณะที่ หากขจัดผลของราคาอาหารและพลังงาน ผ่านการวัดในมิติของอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานแล้ว จะพบว่ายังรักษาระดับการเติบโตจากปีก่อนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งบ่งชี้ถึงความเสี่ยงจากภาวะเงินฝืดจากฝั่งอุปสงค์ที่ยังไม่ชัดเจนในขณะนี้
อย่างไรก็ตาม จากภาพการฟื้นตัวของเครื่องยนต์หลักที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยที่ยังเป็นไปอย่างไม่ทั่วถึง ทำให้มีความจำเป็นที่ กนง.คงต้องรักษาระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.0% อย่างต่อเนื่อง ขณะที่ แม้ว่าแรงกดดันเงินเฟ้อในระยะที่ผ่านมา จะผ่อนคลายลง แต่ส่วนหนึ่งอธิบายได้จากปัจจัยด้านอุปทานมากกว่าด้านอุปสงค์ จึงไม่ใช่สัญญาณที่บ่งชี้ถึงความจำเป็นที่จะต้องมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงในระยะนี้ เพื่อกระตุ้นการใช้จ่าย เนื่องจากอาจเพิ่มประเด็นความเสี่ยงเชิงเสถียรภาพในด้านอื่นๆ ตามมา เช่น ปัญหาหนี้ครัวเรือน และการเก็งกำไรราคาสินทรัพย์ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม เชื่อว่า กนง.คงจะติดตามพัฒนาการทางเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิด เนื่องจากต้องยอมรับว่าเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะภาคการส่งออกยังเผชิญความเสี่ยงต่อการฟื้นตัว จากปัญหาการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกอยู่ อันทำให้การขับเคลื่อนกิจกรรมทางเศรษฐกิจไทยในระยะอันใกล้นี้ ขึ้นกับบทบาทการใช้จ่ายและความก้าวหน้าของการผลักดันโครงการลงทุนของภาครัฐเป็นสำคัญ
"การคงอัตราดอกเบี้ยในระดับต่ำต่อเนื่องเป็นเวลานาน อาจเพิ่มความเสี่ยงเชิงเสถียรภาพหลายประเด็นตามมา ซึ่งถือเป็นปัจจัยที่ กนง.คงต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เพื่อให้สามารถหาแนวทางรับมือและล้อมกรอบปัญหาไว้ล่วงหน้า อันจะช่วยให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้อย่างมีเสถียรภาพในระยะกลางถึงยาว" ศูนย์วิจัยฯ ระบุ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ทางเลือกในการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับต่ำดังกล่าว คงสร้างประเด็นปลายเปิดให้กับความเสี่ยงเชิงเสถียรภาพในหลายด้านตามมา ซึ่ง กนง.คงต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดเช่นกัน เพื่อให้สามารถหามาตรการรองรับและจำกัดความเสี่ยงดังกล่าวได้อย่างทันท่วงที ได้แก่ แนวทางในการส่งสัญญาณถึงจังหวะในการปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินของเฟด โดยแม้ว่าในการประชุมเฟดล่าสุดเมื่อวันที่ 28-29 ตุลาคม 2557 ที่ผ่านมา เฟดได้ประกาศสิ้นสุดการซื้อสินทรัพย์ภายใต้มาตรการ QE ในการประชุมเดือน ตุลาคม 2557 แต่ก็ยังส่งสัญญาณที่จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับต่ำอีกระยะเวลาหนึ่ง ทำให้ผลกระทบในระยะสั้นต่อการเปลี่ยนแปลงกระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายของไทย อาจจะอยู่ในระดับที่จำกัด จากพื้นฐานเศรษฐกิจที่ยังอยู่ในเกณฑ์ดีของไทย
อย่างไรก็ตาม ในระยะกลาง คงต้องยอมรับว่าปริมาณเงินทุนไหลเข้าสู่ตลาดทุนไทยอาจมีแนวโน้มลดลง หรือแม้กระทั่งปรับเปลี่ยนมาเป็นการไหลออกสุทธิ โดยเฉพาะหากเศรษฐกิจสหรัฐฯ สามารถรักษาพัฒนาการเชิงบวกได้อย่างต่อเนื่อง จนนำไปสู่การส่งสัญญาณที่ชัดเจนขึ้นต่อการปรับเปลี่ยนทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟดในอีก 6-9 เดือนข้างหน้า ทั้งนี้ ภาพสภาพคล่องในตลาดการเงินไทยที่อาจตึงตัวมากขึ้นเมื่อเข้าสู่ปี 2558 ดังกล่าว ผนวกกับความต้องการระดมทุนของภาครัฐที่คงเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจมีผลในการช่วงชิงทรัพยากรจากภาคเอกชนบางส่วน (Crowding-Out Effects) นั้น คงทำให้ต้นทุนการเงินในภาพรวมของประเทศมีโอกาสขยับขึ้นได้ แม้ว่า กนง.จะยังไม่ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายก็ตาม
รวมทั้งปัญหาหนี้ภาคครัวเรือนที่ทรงตัวในระดับสูงและการออมในประเทศที่อยู่ในระดับต่ำ คงเป็นอีกประเด็นที่เพิ่มความท้าทายในการดำเนินนโยบายการเงินในระยะข้างหน้า โดยปัญหาหนี้ครัวเรือน ถือเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่มาจากหลายสาเหตุผสมกัน ไม่ว่าจะเป็นมาตรการกระตุ้นการบริโภคในอดีตของภาครัฐ การแข่งขันของผู้ให้บริการสินเชื่อทั้งในระบบและกึ่งระบบ อัตราดอกเบี้ยในระบบที่อยู่ในระดับต่ำต่อเนื่อง และปัญหาวินัยทางการเงินของผู้บริโภค รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของค่านิยมเชิงสังคม ดังนั้น จึงทำให้การแก้ไขปัญหาดังกล่าว คงต้องอาศัยระยะเวลา และอาจต้องพึ่งหลายมาตรการเยียวยาประกอบกัน
แม้ว่าการรักษาอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้อยู่ในระดับต่ำต่อเนื่อง จนกว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจจะสามารถกลับสู่ระดับปกติ คงช่วยผ่อนคลายแรงกดดันต่อปัญหาดังกล่าว ผ่านการเพิ่มรายได้ของภาคครัวเรือน แต่ในอีกด้านหนึ่ง อัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำต่อเนื่องยาวนาน จะสนับสนุนการก่อหนี้เพิ่มเติม และลดแรงจูงใจในการออมเงินของภาคครัวเรือน อันกลายเป็นปัจจัยที่บั่นทอนเสถียรภาพของเศรษฐกิจในระยะยาว
เป็นที่น่าสังเกตว่า กลุ่มที่มีภาระหนี้ครัวเรือนสูงส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มผู้ที่มีรายได้น้อย หรือรายได้ต่อเดือนต่ำกว่า 15,000 บาท ซึ่งเป็นกลุ่มที่ไม่มีเงินออม นั่นหมายความว่า หากอัตราดอกเบี้ยปรับตัวสูงขึ้นในอนาคต ก็คงจะส่งผลกระทบที่ค่อนข้างมากต่อการบริโภคและความสามารถในการชำระหนี้ อันเป็นโจทย์ที่ท้าทายทุกภาคส่วนในการดูแลแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง ดังนั้น จึงถือเป็นประเด็นที่ทางการไทยคงต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เพื่อหาแนวทางตีกรอบของปัญหา และวางแนวทางช่วยเหลือเฉพาะหน้าที่เหมาะสม ในกรณีที่เงื่อนไขเศรษฐกิจและทิศทางอัตราดอกเบี้ยเปลี่ยนแปลงไปในอนาคต
การดูแลเสถียรภาพของราคาสินทรัพย์ในประเทศ ทั้งนี้ โดยปกติแล้ว สภาวะสภาพคล่องในประเทศที่อยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูงและเงื่อนไขอัตราดอกเบี้ยต่ำ มักก่อให้เกิดการเก็งกำไรในสินทรัพย์ต่างๆ ซึ่งในกรณีของไทยนั้น ต้องยอมรับว่ามีความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นในตลาดทุน หลังราคาหลักทรัพย์บางกลุ่มเริ่มมีการปรับตัวที่สูงกว่าปัจจัยพื้นฐาน แม้ส่วนหนึ่งจะอธิบายได้จากการคาดการณ์ถึงอัตราผลกำไรในอนาคตที่น่าจะปรับตัวดีขึ้น ตามแนวโน้มธุรกิจและเศรษฐกิจก็ตาม ดังนั้น จึงถือเป็นอีกประเด็นที่ทางการไทยคงต้องติดตามใกล้ชิด เนื่องจากหากสถานการณ์การฟื้นตัวของเศรษฐกิจออกมาไม่ดีตามที่คาดการณ์ ก็อาจส่งผลให้ราคาหลักทรัพย์เหล่านั้นปรับลดลงสู่มูลค่าที่แท้จริง ซึ่งอาจจะทำให้นักลงทุนที่ถือหลักทรัพย์ที่มีมูลค่าตึงตัวเหล่านั้นได้รับผลกระทบ รวมถึงส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติและบรรยากาศการระดมทุนในตลาดทุนในระยะข้างหน้าได้
สำหรับส่วนของตลาดที่อยู่อาศัยนั้น จากการที่ธปท.ได้ออกมาตรการดูแลปัญหาอุปทานสะสมส่วนเกินในภาคอสังหาริมทรัพย์ไทย ผ่านการออกมาตรการจำกัดอัตราส่วนการให้สินเชื่อต่อมูลค่าหลักประกันตั้งแต่ปี 2553 รวมทั้ง ยังได้รับความร่วมมือจากภาคธนาคารในการใช้ความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อให้เหมาะสมกับความสามารถในการกู้ยืมที่แท้จริงอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์เอง ก็มีการปรับกลยุทธ์ในการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ให้สอดคล้องกับอำนาจซื้อของผู้บริโภค ดังนั้น จึงทำให้ความกังวลต่อสถานการณ์การเพิ่มขึ้นของราคาอสังหาริมทรัพย์ในภาพรวม คลายตัวลง ขณะที่ ราคาอสังหาริมทรัพย์ที่ปรับขึ้นมาก จะจำกัดอยู่ในบางทำเลใกล้แนวรถไฟฟ้า ที่มีความต้องการสูงเท่านั้น
ขณะที่ กรุงเทพโพลล์ โดยศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพร่วมกับคณะเศรษฐศาสตร์ เผยผลสำรวจเกี่ยวกับ อัตราดอกเบี้ยในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ครั้งที่ 7/2557 ในวันที่ 5 พฤศจิกายนนี้ว่า กนง. จะมีการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นอย่างไร (จากปัจจุบันที่อยู่ในระดับ 2.00%) โดยนักเศรษฐศาสตร์ร้อยละ 76.6 คาดว่า กนง. จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 2.0 โดยมีเพียงร้อยละ 7.8 ที่เห็นว่า กนง. จะปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ขณะที่ร้อยละ 6.3 เห็นว่า กนง. จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย