(เพิ่มเติม) พาณิชย์ เผย CPI เดือน ต.ค.โต 1.48%, Core CPI โต 1.67% (รอเนื้อหา)

ข่าวเศรษฐกิจ Monday November 3, 2014 14:52 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางอัมพวัน พิชาลัย รองปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผย ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศ(CPI)เดือน ต.ค.57 อยู่ที่ 107.32 เพิ่มขึ้น 1.48% จากเดือน ก.ย.56 แต่ลดลง 0.1% จาก ก.ย.57 ส่งผลให้ CPI เฉลี่ย 10 เดือน(ม.ค.-ต.ค.57) เพิ่มขึ้น 2.08%

ขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน(Core CPI) เดือน ต.ค.57 อยู่ที่ 105.08 เพิ่มขึ้น 1.67% จากเดือน ก.ย.56 และเพิ่มขึ้น 0.06% จาก ก.ย.57 ส่งผลให้ Core CPI เฉลี่ย 10 เดือน(ม.ค.-ต.ค.57) เพิ่มขึ้น 1.57%

สำหรับดัชนีราคาสินค้าหมวดอาหารและเครื่องดื่มเดือน ต.ค. 57 อยู่ที่ 113.18 เพิ่มขึ้น 3.25% จาก ต.ค.56 และเพิ่มขึ้น 0.02% จาก ก.ย.57 ขณะที่ดัชนีราคาสินค้าที่ไม่ใช่หมวดอาหารและเครื่องดื่ม อยู่ที่ 104.07 เพิ่มขึ้น 0.53% จากเดือน ต.ค.56 แต่ลดลง 0.18% จาก ก.ย.57

"เป็นเงินเฟ้อที่สูงขึ้นในอัตราชะลอตัวลงจากเดือนที่ผ่านมาเท่ากับร้อยละ 1.75 (YoY) เนื่องจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงขายปลีกภายในประเทศที่ปรับตัวลดลง ตามราคาน้ำมันในตลาดโลกซึ่งมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับราคาอาหารสด เช่น ผักสด เนื้อสัตว์ และไข่ไก่ มีราคาลดลง จากปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดมาก ขณะที่ความต้องการบริโภคค่อนข้างทรงตัว ส่งผลให้แรงกดดันเงินเฟ้ออ่อนตัวลง โดยภาพรวมระดับราคาอยู่ในเกณฑ์ดีมีเสถียรภาพ" นางอัมพวัน กล่าว

กรณีอัตราเงินเฟ้อ ต.ค.57 ชะลอตัวต่ำสุดในรอบ 1 ปีถือเป็นการส่งญาญาณว่าไทยเข้าสู่ภาวะเงินฝืดหรือไม่ รองปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า สาเหตุที่แท้จริงมีหลายปัจจัย ส่วนหนึ่งมาจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า ทั้งนี้ในส่วนการบริโภค ปัจจัยส่วนหนึ่งมาจากราคาน้ำมัน ซึ่งในขณะนี้ถือว่าลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยราคาน้ำมันถือเป็นต้นทุนพื้นฐานของสินค้าหลายตัว อาจทำให้ราคาสินค้าโดยรวมลดต่ำลงมา

สำหรับแนวโน้มเงินเฟ้อช่วงที่เหลือของปีใน 2 เดือนจากนี้ นายอัมพวัน ระบุว่า จากมาตรการของรัฐบาลและกระทรวงพาณิชย์ ที่ดำเนินการจนถึงสิ้นปีนี้เชื่อว่าแรงกดดันเงินเฟ้อไม่น่าจะสูง และน่าจะใกล้เคียงกับเดือนนี้

ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั้งปี 57 จะอยู่ที่ 2.14% โดยยังอยู่ในกรอบคาดการณ์ที่ 2-2.8% ซึ่งช่วงครึ่งปีหลังคาดว่าเงินเฟ้อจะอยู่ที่ 2.05% และในไตรมาส 4 อยู่ที่ 2.1%

"ดัชนี CPI ยังเป็นแรงกดดันเงินเฟ้อในปีหน้าไม่มากนัก ซึ่งตัวเลขคาดการณ์อยู่ระหว่างการคำนวณ แต่กรอบน่าจะไม่เกินที่กำหนดไว้ในปีนี้"

ส่วนปัจจัยการปรับขึ้นค่าทางด่วนและค่าโดยสารรถแท็กซี่นั้น ในส่วนของการปรับค่าทางด่วนจะมีผลต่ออัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น 0.0103% ขณะที่ค่าโดยสารรถแท็กซี่จะทำให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น 0.00144%


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ