พร้อมกันนี้ จะมีการแก้ไขประมวลรัษฎากรของกรมสรรพากรเรื่องภาษีการรับการให้ เพื่อป้องกันไม่ให้เป็นช่องทางการหลีกเลี่ยงภาษีมรดก เนื่องจากมีการยกเว้นการเก็บภาษีอยู่หลายกรณี เช่น มีทรัพย์สินอยู่ 120 ล้านบาท โอนให้บุตร 70 ล้านบาท ทำให้เหลือ 50 ล้านบาท มาให้เป็นมรดก ในอัตราที่ไม่เกิน 50 ล้านบาท จึงทำให้ไม่ต้องเสียภาษีมรดก แต่หลังจากแก้ประมวลรัษฎากรภาษีการรับการให้แล้วจะต้องเสียภาษีในอัตรา 10% ทุกกรณี
ทั้งนี้ คาดว่าหลังจากผ่านความเห็นชอบจากครม.แล้วจะส่งให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)พิจารณา โดยจะใช้เวลาประมาณ 3 เดือน ก่อนประกาศให้มีผลบังคับใช้ภายในปี 2558 และเมื่อกฎหมายมีผลบังคับใช้จะมีเวลายกเว้นการเก็บอีก 3 เดือน เพื่อให้กรมสรรพากรมีเวลาเตรียมตัวการออกประกาศต่างๆของการเก็บภาษีมรดกดังกล่าว
ขณะเดียวกันผู้ที่ได้รับภาษีมรดก และเข้าเกณฑ์รับภาระเสียภาษีดังกล่าวแต่ไม่มีเงินชำระ ตามสาระสำคัญในกฎหมายฉบับนี้ยังจะผ่อนผันให้ผู้รับภาระสามารถผ่อนชำระผ่านกรมสรรพากรได้ 2-3 ปี โดยไม่คิดดอกเบี้ย
สำหรับสินทรัพย์ที่จะต้องเสียภาษีมรดกจะเป็น บ้าน หุ้น และทรัพย์สินอื่นๆที่มีการจดทะเบียน ทั้งในและนอกประเทศ ส่วนแก้วแหวนเงินทองจะไม่ถูกนำมาคิดเป็นมรดก แต่หากเจ้าของมรดกโอนให้มูลนิธิ เพื่อการกุศลจะได้รับการยกเว้นเสียภาษีมรดก
รมว.คลัง กล่าวว่า หลังจากนี้จะเริ่มพิจารณารายละเอียดของร่างพ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ให้มีความชัดเจนภายใน 5-6 เดือน เพื่อเสนอให้ครม.และสนช.พิจารณา หลังกฎหมายมีผลจะได้รับการยกเว้น 1 ปีครึ่ง เพื่อให้กรมธนารักษ์มีเวลาประเมินที่ดินรายแปลงให้ครบ 32 ล้านแปลง โดยการเก็บภาษีกรณีบุคคลธรรมดาจะดูจากทะเบียนบ้าน ส่วนเกษตรกรจะดูจากการยื่นข้อความช่วยเหลือจากโครงการรัฐที่ผ่านมาว่ามีจำนวนที่นาเท่าใด
รมว.คลัง กล่าวว่า การปฏิรูปภาษีมีความสำคัญ เนื่องจากขณะนี้รายได้น้อยกว่ารายจ่ายอยู่มาก ทำให้การจัดทำงบประมาณมีปัญหา มีเงินไม่เพียงพอต่อการพัฒนาประเทศ นอกจากนี้ยังมีภาระหนี้เพิ่มจากโครงการประชานิยมของรัฐบาลที่ผ่านมา เช่น โครงการรับจำนำข้าว ซึ่งมีหนี้อยู่กว่า 5 แสนล้านบาท ต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 30 ปีถึงจะชำระหนี้ได้ทั้งหมด ปัจจุบันสัดส่วนรายได้อยู่ที่ 17-18% ต่ำกว่าเมื่อเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้ว 20-30%
ทั้งนี้ การปฏิรูปภาษีมีวัตถุประสงค์เพิ่มรายได้ เพิ่มขีดความสามารถให้กับประเทศ ที่ผ่านมาได้ลดภาษีนิติบุคคลเหลือ 20% มีการลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเหลืออัตราสูงสุด 35% และในอนาคตจะมีการพิจารณาลดลงอีก ขณะที่ภาษีมูลค่าเพิ่มที่ปัจจุบันอยู่ที่ 7% ในปลายปีงบประมาณ 58 จะมีการปรับเพิ่ม รวมถึงการหาวิธีป้องกันการการหลีกเลี่ยงเสียภาษีมูลค่าเพิ่มด้วย
นอกจากนี้ ยังได้สั่งการให้ทั้ง 3 กรมจัดเก็บภาษี คือ กรมสรรพสามิต กรมสรรพากร และกรมศุลกากร ให้แก้ไขกฎระเบียบการวัดประเมินผลงาน(KPI) เพื่อให้มีการแก้ไขปัญหาการเก็บภาษีไม่ให้เกิดการทุจริตหรือมีช่องโหว่อีกต่อไป