ส.อ.ท.กระตุ้นผู้ประกอบการพัฒนาศักยภาพรองรับการแข่งขันหลังเปิด AEC

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday November 5, 2014 11:20 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ในปี 58 ที่กำลังจะมาถึงนี้ อาจกล่าวได้ว่าเป็นช่วงเวลาสำคัญของภาคอุตสาหกรรมไทยอีกช่วงเวลาหนึ่งที่จะแสวงหาโอกาส รวมทั้งพัฒนาศักยภาพให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้นจากการรวมเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) โดยสภาอุตสาหกรรมฯ เชื่อมั่นว่าภาคอุตสาหกรรมไทยมีศักยภาพในหลายๆ ด้าน ที่สามารถจะเป็นผู้นำในอาเซียนได้
"ในการก้าวสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ในปี 58 ที่กำลังจะมาถึงนี้ สภาอุตสาหกรรมฯ มองว่าภาคอุตสาหกรรมไทยมีศักยภาพในหลายๆ ด้าน ที่สามารถจะเป็นผู้นำในอาเซียนได้ ทั้งเรื่องความได้เปรียบทางภูมิศาสตร์ ในด้านการเป็นศูนย์กลางภูมิภาค ซึ่งถือเป็นจุดยุทธศาสตร์ (Strategic Location) เชื่อมโยงประเทศต่างๆ ในภูมิภาค ผ่านเส้นทาง East-West Economic Corridor และ North-South Economic Corridor ภายใต้แผนการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (Greater Mekong Sub-region : GMS)"นายสุพันธุ์ กล่าวในงานเสวนาเพื่อสื่อมวลชน ประจำปี 2557 “อุตสาหกรรมไทย...ผู้นำในอาเซียน"

ทั้งนี้ ในปี 56 มูลค่าเพิ่มของภาคอุตสาหกรรม คิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 38.1 ต่อ GDP ยิ่งไปกว่านั้น การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมได้เติบโตอย่างรวดเร็วและสร้างเงินตราต่างประเทศให้กับประเทศไทยเป็นจำนวนมาก โดยการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมคิดเป็นร้อยละ 67.0 (คิดเป็นมูลค่า 21,839 ล้านบาท) ของการส่งออกสินค้าทั้งหมดในปี 2535 และปรับเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 76.0 (คิดเป็นมูลค่า 173,775 ล้านบาท) ในปี 2556

นอกจากนี้ ประเทศไทยยังมีศักยภาพ ที่จะเป็นศูนย์กลางทางการบินและคมนาคมทางบกที่จะเชื่อม ประเทศคาบสมุทรอินโดจีนและเชื่อมโยงเอเชียเหนือโดยเฉพาะจีน กับเอเชียตะวันตกและอินเดียเข้าด้วยกัน ความได้เปรียบทางด้านการมีศักยภาพของอุตสาหกรรมที่แข็งแกร่ง เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมอาหาร รวมทั้งอุตสาหกรรมสิ่งทอ ที่ไทยมีจุดเด่นในเรื่องขีดความสามารถในการผลิตครบวงจร เป็นฐานการผลิตใหญ่ในอาเซียน

อีกทั้ง ภาคอุตสาหกรรมไทยยังมีความชำนาญในการผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคหลากหลายในประเภทที่มีความจำเป็นต้องใช้ในชีวิตประจำวันมีศักยภาพของแรงงานฝีมือ มีวัตถุดิบทางการเกษตรที่มีศักยภาพ ทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพ อีกทั้งอุตสาหกรรมไทยยังได้ขยายฐานการผลิตออกไปยังต่างประเทศจำนวนมาก เช่น วัสดุก่อสร้าง น้ำตาล ผลิตภัณฑ์เมลามีน อาหารทะเล มีระบบธนาคารที่เข้มแข็ง และมีการค้าชายแดน ที่นับได้ว่าเป็นอีกแรงเสริมศักยภาพด้านการแข่งขันของไทยอีกประการหนึ่ง ยิ่งไปกว่านั้น ประเทศไทยได้มีแผนการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้านที่จะเริ่มต้นในปี 2558 ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาโครงข่ายคมนาคมเชื่อมโยงประตูการค้าระหว่างประเทศ เช่น ท่าเทียบเรือชายฝั่งแหลมฉบัง ศูนย์ขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟ การพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ดอนเมือง ภูเก็ต และโครงข่ายถนนสนับสนุน เป็นต้น รวมถึง การพัฒนาโครงข่ายคมนาคมเชื่อมโยงประตูการค้าชายแดน เช่น ถนนสายโพนพิสัย-บึงกาฬ ตอน 1 ถนนตาก-แม่สอด ถนนกาฬสินธุ์-อ.สมเด็จ สายตราด-หาดเล็ก เป็นต้น โครงการเหล่านี้ล้วนช่วยเสริมศักยภาพของอุตสาหกรรมไทยให้แข็งแกร่งและสามารถแข่งขันได้ในเวทีโลก

อย่างไรก็ตาม แม้ประเทศไทยจะมีข้อได้เปรียบในเวทีอาเซียนอยู่หลายด้าน และมีศักยภาพที่เป็นโอกาสเพียงพอที่จะเป็นผู้นำในอาเซียนจากปัจจัยหลายๆ ประการข้างต้น แต่คงไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ว่าอุตสาหกรรมไทยมีความจำเป็นต้องพัฒนาศักยภาพของตนเองอยู่ตลอดเวลา เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับกับการแข่งขันในเวทีโลกที่จะทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น ควบคู่กับการแสวงหาผลประโยชน์ที่มากับโอกาสจากการเข้าร่วมเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ซึ่งภาคอุตสาหกรรมไทยอาจมีแนวทางในการปรับตัว เช่น อุตสาหกรรมที่เน้นการใช้แรงงานเข้มข้นควรต้องขยายฐานการผลิตไปในประเทศเพื่อนบ้านที่มีความสามารถในการแข่งขันด้านต้นทุนค่าแรงงานที่ต่ำกว่าและทรัพยากรการผลิตที่เอื้ออำนวยกว่า ยิ่งไปกว่านั้น ต้องให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมใหม่ๆ ที่จะเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจในอนาคต เนื่องจากอุตสาหกรรมเดิมที่สร้างรายได้หลักให้กับประเทศมีความสามารถในการแข่งขันลดลง โดยส่งเสริมและให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมที่ประเภท Hi – Value Industry, Hi – Tech Industry, Clean Industry, Na-no Technology, Bio-Technology Agro – Base Industry, Eco – Industry และ อุตสาหกรรมพลังงานทดแทน เป็นต้น

มีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนำนวัตกรรมที่ทันสมัยเข้ามาใช้ในกระบวนการผลิต ให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนา (R&D) นำเทคโนโลยีด้านสารสนเทศมาช่วยอำนวยความสะดวกในการดำเนินธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (E-commerce) และการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) อย่างเป็นระบบ

สนับสนุนให้มีการเชื่อมโยงการผลิตของอุตสาหกรรมขนาดใหญ่กับผู้ประกอบการ SMEs ผ่านระบบห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งผู้ประกอบการ SMEs จะมีโอกาสในการพัฒนาศักยภาพการผลิตของตนเองผ่านการถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรม ทักษะและองค์ความรู้ต่างๆ จากอุตสาหกรรมขนาดใหญ่

พัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เพื่อเพิ่มผลิตภาพของแรงงานไทย โดยปัจจุบันประเทศไทยมีปัญหาการผลิตกำลังคน ซึ่งไม่สอดคล้องกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม ทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ ดังนั้น ต้องมีการพัฒนากำลังแรงงานและตลาดแรงงานให้สมดุลกัน โดยพัฒนาทักษะและเสริมสร้างขีดความสามารถในการเรียนรู้แบบบูรณาการทั้งในระดับอาชีวศึกษาและอุดมศึกษา ส่งเสริมการจัดการศึกษาในระบบทวิภาคีทั้งการศึกษาในระดับอาชีวศึกษา และสายสามัญ

ปรับตัวให้อุตสาหกรรมต้องเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เป็น Eco Industrial Town / Green Industry หรือการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างสมดุลทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

สำหรับในส่วนของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย มียุทธศาสตร์เป้าหมายอันแน่วแน่ คือ “ยกระดับอุตสาหกรรมไทยเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคอาเซียน (AEC Regional Industrial Hub)" ซึ่งสภาอุตสาหกรรมฯ ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) และพร้อมที่จะส่งเสริม สนับสนุน และผลักดันให้ภาคอุตสาหกรรมก้าวสู่ผู้นำในเวทีอาเซียน ผ่านการพัฒนาด้านบริหารจัดการ เพื่อยกระดับภาคอุตสาหกรรมไทย โดยเฉพาะ SME ที่เน้นการส่งเสริมให้ SME เติบโตตามศักยภาพ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ส่งเสริมให้เกิดปัจจัยเอื้อต่อการดำเนินธุรกิจ และสร้างความเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจภายนอกประเทศ สนับสนุนให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศ โดยวางโครงสร้างข้อมูลพื้นฐานของข้อมูลให้เป็นระบบเดียว โดยการใช้ HS.CODE, TAX ID รวมถึงการเชื่อมโยงข้อมูล ต่างๆ เข้าด้วยกัน เพื่อนำไปใช้เชิงพาณิชย์ ส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาคลัสเตอร์เพื่อความเข้มแข็งอุตสาหกรรม โดยยุทธศาสตร์การพัฒนาคลัสเตอร์ (Product differentiation / Innovation / Cost competitiveness / Collaboration / Marketing etc.)พัฒนาความร่วมมือและเชื่อมโยงไทยสู่อาเซียนและสากล โดยการผลักดันมาตรการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษและศูนย์กระจายสินค้าตามแนวชายแดน ให้มีการช่วยเหลือและสนับสนุนระหว่างสมาชิกที่เป็นบริษัทใหญ่กับสมาชิกที่เป็นบริษัทเล็ก เพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่ AEC (ในลักษณะโครงการพี่ช่วยน้อง) โดยให้ภาครัฐดำเนินมาตรการสนับสนุนด้านเงินทุนแก่ SME เพื่อประกอบธุรกิจในกรณีเข้าสู่ AEC และเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจและส่งเสริมการใช้ประโยชน์สูงสุดจาก AEC เป็นต้น

“สภาอุตสาหกรรมฯ เชื่อเป็นอย่างยิ่งว่า จากความได้เปรียบในด้านต่างๆ ของภาคอุตสาหกรรมไทยที่มีอยู่แล้ว ประกอบกับการเร่งพัฒนาศักยภาพของตนเองอย่างต่อเนื่อง และยุทธศาสตร์ในการก้าวเข้าสู่การเป็นศูนย์กลางด้านอุตสาหกรรมของภูมิภาคอาเซียน ย่อมจะเสริมสร้างศักยภาพของภาคอุตสาหกรรมไทยให้ก้าวสู่การเป็นผู้นำในภูมิภาคอาเซียนได้อย่างไม่ยาก" ประธานสภาอุตสาหกรรมฯ กล่าว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ