ทั้งนี้ หากมีการปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม(VAT) จาก 7% เป็น 10% ในปีหน้า มองว่าจะไม่มีผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรม เนื่องจากเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้น รวมถึงการแก้ไขกฎหมายการลงทุนในต่างประเทศเรื่องภาษีของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมไทยไปลงทุนยังต่างประเทศ เนื่องจากมีหลายอุตสาหกรรมของไทยที่ใช้แรงงานเข้มข้น ย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศเพื่อนบ้าน เช่น อุตสาหกรรมสิ่งทอ และอุตสาหกรรมรองเท้า เพราะค่าแรงที่สูงของไทย ทำให้ต้นทุนสูงไม่สามารถแข่งขันได้
นอกจากนี้ ในปี 58 ประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่ AEC ซึ่งไทยมีความได้เปรียบทั้งด้านภูมิศาสตร์ที่สามารถเชื่อมโยงกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคอาเซียน แม้ว่าไทยจะมีจุดเด่นในเรื่องขีดความสามารถในการผลิตครบวงจร แต่การแข่งขันที่รุนแรงก็จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยไทยยังมีจุดอ่อนอยู่ 3 ด้าน คือ แรงงาน, พลังงาน และการสื่อสาร หากต้นทุนทั้ง 3 ด้าน เพิ่มสูงขึ้นจะมีผลต่อการตัดสินใจลงทุนของนักลงทุน อีกทั้งการผลักดันมาตรการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษเป็นสิ่งที่ภาครัฐต้องเร่งดำเนินการ ซึ่งจะช่วยเหลือกลุ่ม SMEs ของไทยในการกระจายสินค้าและบริการไปยังประเทศเพื่อนบ้านได้ง่ายขึ้น รวมถึงต้องส่งเสริมให้กลุ่ม SMEs ทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย เพื่อให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนจากธนาคารพาณิชย์
"อุตสาหกรรมไทยเราต้องปรับตัว โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเยอะ เช่น สิ่งทอ รองเท้า เราอาจจะสูญเสียกำลังการผลิตไปบ้าง เราเองต้องขยายตัวเองไปใช้ระบบการผลิตที่ใช้เทคโนโลยีมากขึ้น ก้าวไปสู่ต้นน้ำมากขึ้น ขณะที่การย้ายฐานการผลิตของต่างชาติก็ยังไม่เห็นชัดเจน เราต่างก็รอดูความชัดเจนเขตเศรษฐกิจพิเศษอยู่ ทำให้เรายังเป็นฐานผลิตที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียนได้" นายสุพันธุ์ กล่าว