สำหรับการตีราคาสต็อกข้าวสิ้นสุด ณ 31 ต.ค.57 พบว่ามีข้าวในสต็อกถึง 85% ที่คุณภาพต่ำกว่ามาตรฐาน และทำให้รัฐบาลขาดทุนจากโครงการรับจำนำข้าวอยู่ที่ 6.6 แสนล้านบาท ซึ่งหากประเมินปริมาณข้าวคงเหลือในสต็อก 17 ล้านตัน ว่าจะขายหมดภายใน 10 ปี จะทำให้มีผลขาดทุนเพิ่มขึ้นเป็น 9.6 แสนล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นราว 3 แสนล้านบาท
นอกจากนี้ นโยบายรับจำนำข้าวยังก่อให้เกิดต้นทุนและความเสียหายต่อสังคมมากกว่าเกิดประโยชน์ต่อชาวนาและผู้บริโภคคิดเป็นมูลค่า 1.23 แสนล้านบาท ขณะเดียวกันยังพบว่าชาวนาในโครงการมีรายได้ทางตรงเพิ่มขึ้น 2.96 แสนล้านบาท แต่เมื่อรวมประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อมจากโครงการแล้วจะอยู่ที่ 5.61 แสนล้านบาท โดยประโยชน์ส่วนใหญ่ของโครงการนี้จะตกอยู่กลับชาวนารายกลางและรายใหญ่มากกว่าชาวนารายเล็กที่ยากจน
นายนิพนธ์ กล่าวต่อว่า โครงการรับจำนำข้าวมีค่าเช่าทางเศรษฐกิจเป็นมูลค่า 5.85 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 41% ของ GDP เกษตร จึงทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องลงทุนเพื่อแสวงหากำไรพิเศษนี้เป็นการถลุงทรัพยากรที่แท้จริงของประเทศ และส่งผลเสียต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ เช่น ต้นทุนปลูกข้าวที่แพงขึ้น, การใช้น้ำชลประทานมากกว่าแผนการจ่ายน้ำของกรมชลประทาน ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของปัญหาน้ำแล้งในปีนี้ และการเก็บข้าวไว้ในโกดังจนเสื่อมคุณภาพ เป็นต้น
นายนิพนธ์ ยืนยันว่าโครงการรับจำนำข้าวมีความล้มเหลวของนโยบายและแนวทางการปฏิบัติ เนื่องจากรัฐบาลใช้นโยบายหาเสียงโดยไม่รับผิดชอบ ไม่คำนึงถึงภาระงบประมาณและภาระขาดทุนที่จะกลายเป็นหนี้สาธารณะ เป็นนโยบายผูกขาดการซื้อข้าว และการส่งออกข้าว ทำให้ปริมาณการส่งออกข้าวของไทยลดลงจนเสียแชมป์การส่งออก 2 ปี ผู้ซื้อไม่ไว้ใจผู้ส่งออกบางราย รวมถึงมีการทุจริตในเกือบทุกขั้นตอน โดยเฉพาะการระบายข้าว
ทั้งนี้ ส่วนตัวเชื่อว่าในระยะต่อไปจะมีการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวรอบที่ 3 เกิดขึ้นอีก หากมีการเลือกตั้งอย่างถูกต้อง เนื่องจากชาวนาส่วนใหญ่ยังติดกับการจำนำข้าว ซึ่งในทางปฏิบัติแล้วไม่ควรปล่อยให้โครงการลักษณะนี้เกิดขึ้นอีก เพราะถือเป็นความเสียหายกับประเทศอย่าง
สำหรับแนวทางทางป้องกันไม่ให้นโยบายแทรกแซงตลาดจากการใช้เงินแบบไม่จำกัดงบประมาณจนสร้างความเสียหายนี้ คือ การแก้ไขกฎหมาย เช่น การกำหนดให้พรรคการเมืองที่หาเสียงต้องแจกแจงภาระค่าใช้จ่ายและที่มาของเงินที่ได้, กำหนดให้พรรคที่ชนะเลือกตั้งต้องเสนอร่างงบประมาณรายจ่ายพิเศษต่อรัฐสภาเป็นรายปี, กำหนดให้รัฐบาลต้องเปิดเผยบัญชีการเงินและผลการดำเนินงานของโครงการต่อรัฐสภาก่อนเสนอร่างงบประมาณปีใหม่, การแก้ไขกฎหมายข้อมูลข่าวสารของราชการให้รัฐบาลต้องเปิดเผยข้อมูลหากปกปิดมีความผิด รวมถึงการตราพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) จำกัดอำนาจรัฐในการแทรกแซงตลาด อาจให้อยู่ 10% ของปริมาณข้าวในประเทศ
นอกจากนี้ ให้มีการจัดทำรายงานอิสระเรื่องผลกระทบและบทเรียนจากโครงการรับจำนำข้าว เพื่อสรุปเป็นบทเรียนสำหรับประชาชน และการแปลงภาระขาดทุนให้เป็นหนี้การคลัง หลังจากการตรวจสอบสต็อกและจัดทำบัญชีรวมเสร็จสิ้น โดยรัฐบาลควรออกพันธบัตรเพื่อหาเงินชำระหนี้ และจัดทำแผนการชำระเงินทั้งต้นและดอกเบี้ย รวมถึงกำหนดระยะเวลาการชำระหนี้ให้ชัดเจนเพื่อสร้างความมั่นใจให้นักลงทุน ซึ่งเห็นว่ารัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ควรดำเนินการในส่วนนี้ และกำหนดแนวทางการระบายข้าวในสต็อก เช่น ขจัดข้าวเสื่อมสภาพ หรือบริจาคข้าวให้โครงการอาหารโลก 30-50% เพื่อลดสต็อกข้าวไม่ให้เป็นภาระ
"ไม่เห็นถึงความเหมาะสมที่จะนำข้าวเสื่อมสภาพไปผลิตเป็นเอทานอล เพราะการเอาข้าวไปทำเอทานอลจะได้พลังงานคืนกลับมาน้อยมาก แต่ต้องใช้เชื้อเพลิงจำนวนมากในการแปรรูป ซึ่งจะกลายเป็นภาระต้นทุน สุดท้ายก็จะส่งผลให้เกิดภาวะขาดทุนในที่สุด" นายนิพนธ์ กล่าว
ด้านนายอัมมาร์ สยามวาลา นักวิชาการเกียรติคุณ TDRI เปิดเผยว่า ข้าวที่เข้าโครงการรับจำนำส่วนใหญ่ไม่ได้มาจากชาวนาที่ยากจน ดังนั้นการแทรกแซงราคาข้าวจึงไม่เป็นประโยชน์กับชาวนาที่เป็นกลุ่มเป้าหมาย โดยยอมรับว่ารัฐบาลมีเหตุผลที่เพียงพอในการเข้าแทรงแซงราคาสินค้าเกษตรเพื่อผลักดันราคาให้ปรับสูงขึ้น แต่ก็มีอีกหลายเหตุผลที่รัฐบาลไม่ควรเข้าไปดำเนินการในส่วนนี้ เช่น สินค้าเกษตรส่งออกและนำเข้า เพราะมีกลไกการแข่งขันด้านราคาในตลาดโลกอยู่แล้ว
นอกจากนี้ยังห้ามแทรกแซงราคาสินค้าเกษตร ผ่านโครงการรับจำนำสำหรับผลผลิตที่เน่าเสียง่าย เช่น หอมแดง ที่จะเน่าเสียภายใน 3 สัปดาห์ แต่การผลักดันให้เกิดการจำนำในส่วนนี้ เกิดจากนักการเมืองสมองใสที่ดำเนินการแบบคิดเอาแต่ได้