เงินบาทปิด 32.84 อ่อนค่าหลังกนง.คงดอกเบี้ย แนวโน้มพรุ่งนี้ทดสอบ 33

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday November 5, 2014 17:40 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นักบริหารเงิน เปิดเผยว่า เงินบาทปิดตลาดเย็นนี้อยู่ที่ระดับ 32.84 บาท/ดอลลาร์ ปรับตัวอ่อนค่าจากเปิดตลาดช่วงที่ระดับ 32.67/69 บาท/ดอลลาร์ เคลื่อนไหวตามภูมิภาคหลังดอลลาร์แข็งค่า ระหว่างวันเงินบาททำโลว์ที่ระดับ 32.67 บาท/ดอลลาร์ และทำไฮที่ระดับ 32.84 บาท/ดอลลาร์
"ปิดตลาดอ่อนค่าหลุดแนวต้านไปทำไฮสุดของวัน โดยทยอยปรับตัวอ่อนค่าหลังรู้ผลประชุม กนง." นักบริหารเงิน กล่าว

นักบริหารเงิน คาดว่า วันพรุ่งนี้เงินบาทจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 32.72-33.00 บาท/ดอลลาร์

"พรุ่งนี้เงินบาทมีโอกาสขึ้นไปทดสอบที่ระดับ 33.00 บาท/ดอลลาร์" นักบริหารเงิน กล่าว
  • ปัจจัยสำคัญ
  • เงินเยนอยู่ที่ระดับ 114.52 เยน/ดอลลาร์ จากช่วงเช้าที่ระดับ 113.63 เยน/ดอลลาร์
  • เงินยูโรอยู่ที่ระดับ 1.2480 ดอลลาร์/ยูโร จากช่วงเช้าที่ระดับ 1.2552 ดอลลาร์/ยูโร
  • ดัชนี SET ปิดวันนี้ที่ระดับ 1,577.40 จุด ลดลง 7.75 จุด, -0.49% มูลค่าการซื้อขาย 56,714.31 ล้านบาท
  • สรุปปริมาณการซื้อขายรายกลุ่ม ต่างชาติซื้อสุทธิ 2,559.33 ล้านบาท(SET+MAI)
  • คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) มีมติ 6 ต่อ 1 เสียงให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.00% ต่อปี เนื่องจากประเมินว่า นโยบายการเงินที่ผ่อนปรนในปัจจุบันไม่เป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย โดยมีกรรมการ 1 เสียงที่เห็นควรให้ลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% ต่อปี เพราะมองว่านโยบายการเงินควรผ่อนปรนเพิ่มเติมเพื่อช่วยเพิ่มแรงกระตุ้นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ
  • นอกจากนี้ กนง.จะมีการปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 57 และ 58 อีกครั้งในเดือน ธ.ค.นี้ หากภาวะเศรษฐกิจในช่วง 1-2 เดือนต่อจากนี้ไม่มีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งมีแนวโน้มว่าการส่งออกจะติดลบจากเดิมที่เคยคาดการณ์ไว้ที่ 0% ขณะที่ในปี 58 อาจจะมีการปรับลดตัวเลขเศรษฐกิจในภาพรวมเช่นกัน แต่มองว่าแนวโน้มเศรษฐกิจในปีหน้าจะขยายตัวได้ดีกว่าในปีนี้
โดยเห็นว่ายังมีปัจจัยที่ต้องเฝ้าระวังทั้งภายในและภายนอกประเทศ
  • นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย คาดเศรษฐกิจไทยในปี 58 จะขยายตัวได้ประมาณ 4-5% เนื่องจากรัฐบาลมีแผนการลงทุนที่ชัดเจนในเรื่องของโครงสร้างพื้นฐาน และช่วงปลายปีหน้าก็จะมีการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(AEC) ซึ่งภาครัฐก็มีแผนในการช่วยเหลือภาคเอกชนให้มีศักยภาพในการแข่งขัน และมีมาตรการช่วยเหลือภาคเกษตรกรที่คาดว่าจะทยอยประกาศออกมา ทำให้ส่งผลดีต่อภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศ
  • นายณรงค์ชัย อัครเศรณี รมว.พลังงาน เปิดเผยว่า กระทรวงพลังงานจะนำเสนอกรอบโครงสร้างราคาพลังงานทุกประเภทให้แก่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ในเดือน พ.ย.นี้ รวมทั้งผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) จากนั้นคาดว่าในเดือน ธ.ค.นี้ คณะกรรมบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) จะสามารถทยอยปรับราคาพลังงานทุกประแภท ได้แก่ เบนซิน แก๊สโซฮออล์ ดีเซล NGV LPG ทั้งนี้คาดใช้เวลาปรับขึ้นให้สะท้อนตามราคาต้นทุนจริงประมาณ 1 ปี
  • นายเจมส์ บุลลาร์ด ประธานธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) สาขาเซนต์หลุยส์ แสดงความเห็นว่าเศรษฐกิจสหรัฐไม่จำเป็นต้องใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมจากเฟด การตัดสินใจยุติโครงการซื้อพันธบัตรของเฟดเมื่อสัปดาห์ที่แล้วเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้อง แม้จะมีเสียงโต้แย้งให้เฟดคงนโยบายการซื้อพันธบัตรต่อไปอีก เนื่องจากคาดการณ์เรื่องเงินเฟ้อที่ปรับตัวลดลง
  • นายฮารุฮิโกะ คูโรดะ ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น(บีโอเจ) เผยจะยังคงใช้มาตรการทุกอย่างที่เป็นไปได้ เพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายการรักษาเสถียรภาพเงินเฟ้อที่ระดับ 2% ให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้
  • ดัชนี PMI ภาคการผลิตของยูโรโซนในเดือนต.ค.ปรับตัวขึ้นแตะ 50.6 จากระดับต่ำสุดในรอบ 14 เดือนที่ 50.3 ในเดือนก.ย. แต่ขยับลงจากตัวเลขเบื้องต้นเดือนต.ค.ที่ระดับ 50.7 ดัชนีที่สูงกว่า 50 แสดงให้เห็นว่า กิจกรรมทางธุรกิจมีการขยายตัว และตัวเลขที่ต่ำกว่า 50 บ่งชี้ถึงภาวะหดตัว ทั้งนี้ ดัชนี PMI รวมของยูโรโซนอยู่ในกรอบขยายตัวมาเป็นเดือนที่ 16 ติดต่อกันแล้ว
  • ผลสำรวจของมาร์กิตเผยให้เห็นว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการของเยอรมนีลดลงแตะ 54.4 ในเดือนต.ค. จากระดับ 55.7 ในเดือนก.ย. ดัชนีที่สูงกว่า 50 บ่งชี้ถึงภาวะการขยายตัวของภาคบริการ ส่วนระดับที่ต่ำกว่า 50 แสดงให้เห็นว่ากิจกรรมภาคบริการหดตัวลงจากเดือนก่อนหน้า
  • ผลสำรวจระบุว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการของฝรั่งเศสในเดือนต.ค.ลดลงแตะ 48.3 ซึ่งต่ำสุดในรอบ 4 เดือน จาก 48.4 ในเดือนก.ย. ดัชนีที่สูงกว่า 50 บ่งชี้ถึงภาวะการขยายตัวของภาคบริการ ส่วนระดับที่ต่ำกว่า 50 แสดงให้เห็นว่ากิจกรรมภาคบริการหดตัวลง
  • ธนาคารยูบีเอสคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจจีนจะยังคงขยายตัวในระดับปานกลางในอีก 2 ปีข้างหน้า เนื่องจากอุปสงค์ภายในประเทศมีแนวโน้มอ่อนแอลง อันเนื่องมาจากการปรับตัวขาลงของตลาดอสังหาริมทรัพย์

แท็ก เงินบาท   กนง.  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ