อย่างไรก็ตาม นอกจากการหารือกับทูตพาณิชย์ในครั้งนี้แล้ว อีกด้านหนึ่งที่กระทรวงเกษตรฯ จะต้องดำเนินการคือเจรจากับหน่วยงานด้านคุณภาพของจีน ซึ่งจะสามารถขอยืดระยะเวลาได้หรือไม่นั้นก็ขึ้นอยู่กับทางการจีนที่จะเป็นผู้ตัดสินใจ โดยไม่มีเงื่อนไขการให้สิทธิพิเศษกับประเทศใดประเทศหนึ่ง
นอกจากนั้น กระทรวงเกษตรฯ ยังได้หารือกับทางทูตพาณิชย์จีนให้ร่วมสนับสนุนนักลงทุนจีนในอุตสาหกรรมยางเข้ามาลงทุนในประเทศไทย เพื่อดูดซับยางพาราให้เกิดการใช้งานภายในประเทศให้มากขึ้น โดยจะมีการหารือร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ของไทยและนักลงทุนจีนที่จะเดินทางเข้ามาดูระบบการปลูกและการผลิตยางในประเทศในระหว่างวันที่ 25 – 26 พฤศจิกายน นี้ ซึ่งนักลงทุนจากเมืองจีนจะได้ร่วมหารือกับทางกระทรวงเกษตรฯ รวมถึงการประสานงานกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องระหว่างสองประเทศให้ใกล้ชิดกัน เพื่อเพิ่มช่องทางการส่งสินค้าเกษตรไทยไปขายในประเทศจีนให้มากขึ้น ซึ่งประเทศจีนถือเป็นตลาดส่งออกสินค้าเกษตรที่สำคัญของไทยแห่งหนึ่ง หากมีความสร้างความสัมพันธ์ให้แก่เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องระหว่างกันก็จะเอื้อประโยชน์ต่อการค้าขายระหว่างสองประเทศให้มากยิ่งขึ้น
ด้านนายอนันต์ สุวรรณรัตน์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวถึงกรณีการปรับสัดส่วนยางคอมปาวด์ใหม่ของจีนนั้น เป็นการกำหนดสัดส่วนการใช้ยางธรรมชาติในการผลิตยางคอมปาวด์ต้องไม่เกิน 88% ส่วนผสมอื่นอีกตามเงื่อนไขอีก 12% ซึ่งการผลิตยางคอมปาวด์ของไทยในปัจจุบันนั้นมียางธรรมชาติเป็นส่วนผสมเกินกว่า 88% อยู่ ดังนั้น ผู้ประกอบการของไทยจำเป็นจะต้องอาศัยระยะเวลาในการปรับตัวในเรื่องระบบการผลิต อุปกรณ์เครื่องมือต่างๆ หากจีนจะเริ่มดำเนินการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ใหม่ที่กำหนดไว้ว่าจะเริ่มในวันที่ 1 มกราคม 2558 อาจจะได้รับผลกระทบอยู่บ้าง แม้ไม่ใช้สัดส่วนที่มากนัก โดยปัจจุบันไทยส่งออกยางคอมปาวด์ไปจีนประมาณ 7 แสนตัน/ปี ขณะที่การส่งออกยางทั้งหมดไปจีนประมาณ 3 ล้านตัน